xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มแล้ว! ฤดูนักสู้แห่งขุนเขา คนซื้อคนขาย “กว่าง” รอชนบนขอนไม้คึกคัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่/พะเยา - ย่างเข้าฤดูชนกว่าง ชาวเหนือหลายจังหวัดทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ยันวัยชรา หาซื้อ “ด้วงกว่าง นักสู้แห่งขุนเขา” กันคึกคัก ก่อนหิ้วไปบ่มเพาะสอนเชิงรอส่งขึ้นขอนไม้ประกบคู่ชนกับเพื่อนฝูง พ่อค้าเผยขายดิบ ขายดีกันทุกปี บางวันเคยขายได้ถึง 7-8 พัน แต่ปีนี้กระแสโปเกมอนกลบ

วันนี้ (23 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางพรรษาต่อเนื่องไปจนถึงปลายฝน ต้นหนาวทุกปี ถือเป็นช่วงฤดูที่คนเหนือหลายจังหวัดโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ยันวัยชรา ต่างเฝ้ารอที่จะนำ “ด้วงกว่าง : นักสู้แห่งขุนเขา” ของตัวเองมาท้าประลองกันบนขอนไม้ยามว่างเว้นจากการงานต่าง ๆ ซึ่งเดิมจะพบเห็นตามชุมชนและหมู่บ้านชนบทเป็นหลัก

แต่ปัจจุบัน “กีฬาชนกว่าง” แพร่หลายเข้าสู่สังคมเมืองมากขึ้น ซึ่งจะพบว่าในช่วงนี้ริมถนนหนทางหลายจังหวัดทั้งเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน มีการนำด้วงกว่าง-ท่อนอ้อย-กล้วยน้ำว้า มาวางขายกันอย่างมากมาย จนกลายเป็นหนึ่งในช่องทางทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำกันเลยทีเดียว เช่น บริเวณริมถนนรัตนโกสินทร์ กลางตัวเมืองเชียงใหม่ ทุกวันจะมีผู้คนทั้งเด็กนักเรียนวัยรุ่น คนวัยทำงาน พากันแวะเวียนไปเลือกซื้อด้วงกว่าง ที่มีพ่อค้านำมาวางขายในราคาตั้งแต่ตัวละ 150 บาท ไปจนถึงราคาตัวละ 1 พันบาท ขึ้นอยู่กับขนาด-ทรวดทรงองค์เอว และเขา ส่วนใหญ่จะซื้อนำไปท้าประลองชนกันกับเพื่อนๆ

นายเกรียงศักดิ์ มะลิวัลย์ พ่อค้ากว่างริมถนนรัตนโกสินทร์ เชียงใหม่ บอกว่า ประชาชน และเด็กวัยรุ่นยังคงนิยมซื้อกว่างไปเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน แขวนไว้ตามหน้าบ้าน หรือนำไปชนกันต่อเนื่อง จนขายดิบขายดีทุกปี ซึ่งตนนำกว่างจากลำปาง-ชัยภูมิ ด้วงกว่างที่แข็งแรงอดทนมาขายนานแล้วจนสร้างสร้างเนื้อสร้างตัว ซื้อบ้านซื้อรถได้สบายๆ แต่ปีนี้กระแสโปเกมอนทำให้ยอดขายช่วงต้นฤดูยังไม่ดีเท่าที่ควร ขายได้วันละ 2 พันกว่าบาทอยู่ จากปกติทุกปีจะขายได้ 7-8 พันบาทต่อวัน ซึ่งคงต้องรอให้มีสนามประลองกว่างเปิดก่อนจึงจะคึกคัก

นายคณิต ทนุก้ำ อายุ 33 ปี หนุ่มเชียงใหม่ที่นิยมเลี้ยงกว่างบอกว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ด้วงกว่างเป็นแมลงมีชีวิต ไม่เหมือนกับโปเกมอนที่เป็นเกมส์จับไล่กินอย่างเดียวไม่สนุก สู้วัฒนธรรมการเลี้ยงกว่างไม่ได้ เป็นการต่อสู้ที่ตัวเป็นๆ มีชั้นเชิงลีลาการต่อสู้ และต้องใจเย็นกว่าจะได้ชนแต่ละครั้ง

“โปเกมอนตื่นขึ้นมาก็ไปหาไม่ยุ่งยากอะไร ต่างจากด้วงกว่างที่จะต้องเลี้ยง ต้องสอนชั้นเชิงกว่าจะประลองลงสนามต่อสู้กับคู่แข่งได้ซึ่งมีศิลปะกว่า”

ขณะที่นายวีระพงษ์ ศิริสุวรรณ หรือช่างอ๊อด อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 405/1ถนนแม่ต๋ำ ต.แม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ได้ใช้เวลาว่างเอากว่าง หรือด้วงกว่างมาเพาะขยายพันธุ์ พอถึงช่วงฤดู กว่างที่เพาะเลี้ยงไว้จะบินออกมาจากจากที่เพาะเลี้ยง

นายวีระพงษ์บอกว่า ตอนนี้เริ่มมีกว่างตัวผู้ออกมาหลายวันแล้ว วันละ 10 กว่าตัว ตัวที่สวยๆจะขายได้ตั้งแต่ราคา 100-500 บาทขึ้นไป ซึ่งแต่ละวันจะขายได้ถึง 10 กว่าตัวทีเดียว เป็นการสร้างรายได้อย่างงามให้กับตนเองและครอบครัว

นายวีระพงษ์บอกอีกว่า การเพาะเลี้ยงกว่างไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่คัดเลือกเอากว่างตัวผู้ที่ตัวใหญ่ ลักษณะสวยงาม ส่วนตัวเมียก็เลือกเอาที่ตัวโตแข็งแรงสมบูรณ์เช่นกัน และเมื่อเอามาผสมพันธุ์กันแล้ว ก็จะเอาตัวเมียแยกไปไว้ยังบ่อหลุมเพาะเลี้ยงจนวางไข่ และออกเป็นตัวในปีต่อไป

“กว่างจะออกมากช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี ซึ่ง 1 ปีมีเพียง 1 ครั้งเท่านั้น คนที่สนใจการชนกว่างก็จะมาหาซื้อไปเล่นชนกันกันทุกวัน และถือเป็นการอนุรักษ์กว่างไทยไว้ให้คงอยู่ควบคู่กับชาวล้านนา ที่มีการละเล่นชนกว่างมาแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบันด้วย”

สำหรับด้วงกว่างในภาคเหนือนั้นจะอาศัยตามต้นไม้ ตามป่าเขา อยู่แบบธรรมชาติ และจากการเพาะเลี้ยง พอถึงฤดูกว่างทุกปี ชาวเหนือในกลุ่มผู้ชายทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ก็จะพากันออกหาจับกว่าง หรือซื้อมาเพื่อจับคู่ชนกัน จนถือเป็นวัฒนธรรมของชาวเหนือล้านนามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน







กำลังโหลดความคิดเห็น