ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - หนุ่มใหญ่เชียงใหม่จับ “ด้วงกว่าง” ตั้งแผงขายสร้างรายได้เสริมช่วงหน้าฝน ราคาขายเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพัน ได้เงินเข้ากระเป๋าเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท โดยราคาสูงสุดที่ขายได้อยู่ที่ 2,000 บาท ระบุเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานและเป็นที่นิยมมากในอดีตช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวแต่ปัจจุบันเริ่มห่างหาย หวังสืบสานให้ยืนยาว
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า บริเวณริมถนนรัตนโกสินทร์ ช่วงด้านหลังโรงเรียน ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ในตัวเมืองเชียงใหม่ ในช่วงนี้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักจากการที่มีบรรดาผู้ค้านำ “ด้วงกว่าง” มาตั้งแผงวางเรียงรายขาย สร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูฝน โดยนำท่อนอ้อยที่มีด้วงกว่างเกาะกินอยู่ ทั้งแขวน และวางให้คนที่ชื่นชอบแมลงชนิดนี้ได้ชม และเลือกซื้อกันอย่างเพลิดเพลิน
จากการสำรวจพบว่ามีราคาขายตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงหลักพันบาท ขึ้นอยู่กับลักษณะสี รูปร่าง ขนาดตัว และเขาของด้วงกว่างแต่ละตัว นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสังเวียนชนกว่าง ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่รับความนิยม เพื่อให้เจ้าของด้วงกว่างแต่ละตัวได้นำด้วงกว่างของตัวเองมาประลองฝีมือกันด้วย
นายเกรียงศักดิ์ มะลิวัน อายุ 38 ปี พ่อค้าขายด้วงกว่าง เปิดเผยว่า ตั้งแผงขายด้วงกว่างอยู่ที่ย่านนี้เป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยเมื่อถึงช่วงปลายฝนต้นหนาวของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูที่ด้วงกว่างจะเจริญเติบโตเต็มไวและโผล่ออกมาจากดิน เพื่อออกมาผสมพันธุ์กับตัวเมีย ตัวเองกับภรรยาก็จะอาศัยช่วงนี้ออกหาด้วงกว่างมาวางขายเป็นรายได้เสริม
แมลงปีกแข็งเหล่านี้จะมีอายุสั้นเพียงประมาณ 90 วัน จึงทำให้ชาวบ้านและผู้ชื่นชอบการชนด้วงกว่างจำนวนมาก ออกหาด้วงกว่างตามพื้นที่ที่มีป่าดิบชื้น โดยแหล่งป่าดิบชื้นในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นแหล่งที่นิยมจับด้วงกว่าง ได้แก่ พื้นที่ อำเภอดอยสะเก็ด,อำเภอเชียงดาว และพื้นที่ป่าดิบชื้นบนดอยสุเทพ เป็นต้น
ทั้งนี้ ด้วงกว่างที่ตัวเองนำมาขายนั้น นอกจากไปหาจับมาเองแล้ว ยังรับซื้อเหมาจากชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ในราคาเฉลี่ยตัวละ 50 บาท จากนั้นจะนำมาคัดลักษณะเพื่อตั้งราคาขาย ที่มีราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพัน โดยราคาที่แพงที่สุดที่ขายได้ในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้อยู่ที่ราคาตัวละ 2,000 บาท
ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าในกลุ่มผู้ชื่นชอบด้วงกว่างและเป็นลูกค้าหน้าเดิมที่รู้จักกันดี อย่างไรก็ตามมีลูกค้าขาจรด้วยอีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งรายได้จากการขายด้วงกว่างในแต่ละวันนั้น ที่ผ่านมามีรายได้เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท โดยลดลงจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่คนระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ นายเกรียงศักดิ์ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันเด็กสมัยใหม่เริ่มไม่ค่อยรู้จักกับด้วงกว่างแล้ว เพราะปัจจุบันหันไปเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือกันหมด ทั้งๆ ที่ในอดีตเด็กๆ ตามต่างจังหวัดจะรู้จักเป็นอย่างดีและเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่แต่ก่อนได้รับความนิยมมาก ในช่วงหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตร ที่จะมีการออกไปหาจับด้วงกว่างตามป่าเล่นต่อสู้กันหรือที่เรียกว่า “ชนกว่าง” เพื่อผ่อนคลายจากช่วงทำงานหนัก ซึ่งโดยส่วนตัวอยากอนุรักษ์การละเล่นชนิดนี้ไว้
ปัจจุบันมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานขึ้นไป ที่มักจะมาเลือกซื้อนำไปเลี้ยงหรือประลองเพื่อเป็นการระลึกความหลัง สนุกสนาน ผ่อนคลาย และสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นหลัก
สำหรับ “ด้วงกว่าง” เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งที่ผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือ รวมทั้งภาคอื่นๆ ให้ความนิยมนำจับมาเลี้ยงเพื่อชื่นชมความสวยงาม รวมทั้งการนำมาชนกว่างเพื่อประลองฝีมือกัน โดยในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าได้รับความนิยมในหลายพื้นที่ และมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ทั้งการประกวดประเภทสวยงาม และการแข่งขันชนกว่าง เช่น ที่อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
การจัดงานทุกปีมีผู้คนในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยปีนี้กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-29 ต.ค.59 ทั้งนี้ ด้วงกว่างที่เป็นที่นิยมมี 3 ประเภท ได้แก่ กว่างสองเขา กว่างสามเขา และกว่างห้าเขา ซึ่งด้วงกว่างที่นิยมนำมาชนกันจะเป็นด้วงกว่างสองเขา เนื่องจากลักษณะเขาที่มีเพียงแค่ 2 สามารถงัดกันได้เร็ว และรู้ผลแพ้ชนะง่ายกว่าด้วงกว่างชนิดอื่นๆ.