xs
xsm
sm
md
lg

ที่เดียวในโลก! อาข่าแม่สลองร่วมอนุรักษ์ “ปูแม่ฟ้าหลวง” มีเฉพาะห้วยแม่แสลบ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สุดหวงแหน ชาวอาข่าดอยแม่สลองจับมือโรงเรียน ตชด.ร่วมอนุรักษ์ลำห้วยแม่แสลบ แหล่งอาศัย “ปูแม่ฟ้าหลวง” มี 5 สี ที่เดียวในโลก ห้ามใครแตะต้อง ยันใครเห็นเป็นต้องทึ่ง จับย้ายที่อยู่สีหาย พอเอาหินนอกพื้นที่มาวางกลับไม่ยอมอยู่ แถมจับผสมพันธุ์ไม่ได้อีก ต้องรอธรรมชาติรังสรรค์เท่านั้น เด็กนักเรียนทำโครงงานประกวดได้เหรียญทองมาแล้ว



วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ “ลำห้วยแม่แสลบ” ซึ่งเต็มไปด้วยโขดหินเฉพาะ และมีต้นไม้หนาแน่น ที่ไหลผ่านชุมชนชาวอาข่า บ้านแสนใจพัฒนา หมู่ 22 ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ระยะทางราว 300 เมตร ถือเป็นพื้นที่ที่ชาวอาข่าหวงแหน และร่วมกับโรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) อนุรักษ์สภาพแวดล้อมอย่างเข้มข้น

หลังจากพบว่าลำห้วยแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของ “ปูแม่ฟ้าหลวง” ซึ่งเป็นปูหายากที่พบเพียงแห่งเดียวในโลก เป็นปูขนาดเล็ก กว้างระหว่างกระดองประมาณ 3-4 ซม. ลักษณะสีสันของกระดอง และขาสวยงามด้วย 5 สี คือ สีแดง ดำ น้ำเงิน ขาว และน้ำตาล

โดยชาวบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า และโรงเรียนฯ ได้ร่วมกันรณรงค์ไม่ให้คนทั้งใน-นอกพื้นที่ลงไปทำลายแหล่งอาศัยของ “ปูแม่ฟ้าหลวง” ในลำห้วยแม่แสลบ ระยะทางประมาณ 300 เมตร และประชาสัมพันธ์ไม่ให้จับปูมาทำอาหารเหมือนในอดีต ส่วนภายในโรงเรียนฯ ก็จัดทำโครงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับปูชนิดนี้ รวมทั้งจัดการเรียนการสอน และมีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับปูแม่ฟ้าหลวงในหลายจุดด้วย

นายอนุวัช อุ่นกอง ผอ.โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) กล่าวว่า ทางคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงสำรวจลำห้วยแม่แสลบ หลังทราบว่ามีปูพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน เมื่อไปตรวจดูก็พบว่ามีที่เดียวในโลกจริง จึงได้ขอพระราชทานชื่อเป็นปูแม่ฟ้าหลวง มีชื่อสามัญว่า Elegant Mountain crab

หลังจากนั้นทางโรงเรียน และชุมชน จึงได้ให้ความสำคัญ ร่วมกันอนุรักษ์ปูชนิดนี้เอาไว้ โดยในส่วนของโรงเรียนฯ ได้ให้นักเรียนทำการศึกษาเป็นโครงการงาน ล่าสุดนำโครงงานศึกษา “ปูแม่ฟ้าหลวง” เข้าร่วมประกวดตามโครงการ 1 โรงเรียน 1 นวัตกรรมประจำปี 2559 ของคุรุสภา ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองระดับประเทศ ด้านจัดการแหล่งเรียนรู้ เพราะผลการดำเนินการทำให้ปูชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นจากอดีต จึงเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นมาก

“ปูชนิดนี้จะอาศัยอยู่เฉพาะที่ลำห้วยแม่แสลบ เป็นระยะทางสั้นๆ ราว 300 เมตร ช่วงที่มีภูมิประเทศเป็นโขดหิน แม้เรานำหินชนิดอื่นไปวางก็ไม่ยอมอยู่ หรือนำหินจากลำห้วยมาวางก็ไม่อยู่อีก ต้องเป็นลักษณะหินซ้อนกันตามธรรมชาติ”

พอนำปูออกไปนอกเขตนี้ก็จะไม่มีสีสันตามลักษณะดั้งเดิมอีก และก่อนหน้านี้มีความพยายามจะขยายพันธุ์แต่ก็ไม่ได้ผล ต้องอาศัยการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติเท่านั้นด้วย การอนุรักษ์ปูแม่ฟ้าหลวงเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าหายไปก็จะหายไปจากโลกนี้เลย” นายอนุวัชกล่าว

อาจารย์จิรัชญา ผาลา ครูวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนฯ กล่าวว่า เดิมปูชนิดนี้หาง่าย และพบเห็นในลำห้วยแม่แสลบ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป และอาจมีการจับมาทำเป็นอาหาร ทำให้ปริมาณลดลง กระทั่งมีการค้นพบและศึกษาในปี 2538 จึงทราบว่าปูชนิดนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะพันธุ์ และยังมีปริมาณที่ลดลงจนหาได้ยาก หรือเกือบสูญพันธุ์

จากนั้นก็มีการอนุรักษ์กันอย่างเข้มข้น กระทั่งช่วง 2-3 ปีก่อนจึงเริ่มพบได้ง่ายขึ้นในลำห้วย แต่ก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ เพราะที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ประมงเคยนำปูตัวผู้ และตัวเมียไปทดลองผสม-ขยายพันธุ์ ปรากฏว่าได้ลูกออกมาไม่มีคุณลักษณ์เหมือนรุ่นพ่อ-แม่ นอกจากนี้เมื่อนำปูออกจากลำห้วยนี้ไปปูก็ไม่มีสีสันเหมือนเดิมอีก แต่กลับดำไปเรื่อยๆ ด้วย




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น