ประจวบคีรีขันธ์ - ครู เด็กนักเรียน และกลุ่มเด็กๆ รักษ์ทุ่ง รวมตัวเรียกร้องนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งลงมาศึกษาแก้ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด กว่า 30,000 ไร่ ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หลังเจอปัญหาน้ำแห้งขอด ส่งผลทั้งสัตว์น้ำ พืชพรรณไม้น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ตายจนหมด รวมทั้งนกน้ำ นกอพยพนานาชนิดได้รับผลกระทบ รวมทั้งชาวบ้านที่ขาดรายได้ พร้อมเสนอให้หน่วยงานทดลองชุดลอกตะกอนซากพืช และสัตว์ที่ทับถมส่งผลให้ทุ่งตื้นเขิน ยอมรับปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดได้เสียความสมดุลหมดแล้ว
วันนี้ (19 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด กว่า 30,000 ไร่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประสบปัญหาน้ำแห้งขอดจนเห็นดินแยกแตกระแหง และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ ล่าสุด นายสุพจน์ สุขพัฒน์ อาจารย์สายสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ในฐานะที่ปรึกษากลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง ได้นำเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนสามร้อยอดวิทยาคม และโรงเรียนบ้านสามร้อยยอด ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มรักษ์ทุ่ง มาเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยใช้พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นจุดเรียนรู้
นายสุพจน์ สุขพัฒน์ อาจารย์สายสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ผู้ที่คลุกคลีอยู่กับทุ่งสามร้อยยอด มาเกือบ 30 ปี และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง สอนเด็กกลุ่มรักษ์ทุ่งว่า วันนี้สภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนกน้ำนาชนิด รวมทั้งนกอพยพ ที่เคยมาตามดูกาล สัตว์น้ำ และพืชพรรณไม้น้ำต่างๆ ที่อยู่ในทุ่งมาอย่างยาวนาน มาถึงวันนี้เมื่อน้ำแห้งขอดจนเกิดพื้นดินแตกระแหง และมีเศษซากสัตว์ และพืชต่างๆ ทับถมจนเกิดเป็นตะกอนที่ตื้นเขิน ส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ วันนี้ได้เสียความสมดุลไปหมดแล้วซึ่งเกิดจากธรรมชาติ และมนุษย์
วันนี้ถึงแม้ภาพความอุดมสมบูรณ์จะหมดไปก็ตาม แต่วันนี้อาจารย์สายสิ่งแวดล้อมก็ยังคงเห็นว่านี่เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ให้นักเรียนได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด กว่า 30,000 ไร่ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เด็กๆ นักเรียนที่เป็นกลุ่มรักษ์ทุ่ง ซึ่งเคยมาใช้พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดเป็นสถานที่เรียนรู้เรื่องระบบนิเวศวิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่อุดมสมบูรณ์ แต่วันนี้ถึงจะมีสภาพที่อยู่ในภาวะวิกฤต ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ และสะท้อนปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ไปให้ผู้เกี่ยวข้องได้หาทางแก้ไข โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด เดิมเป็นพื้นที่ราบลุ่มเป็นแอ่งกระทะ แต่วันนี้มีสภาพเปลี่ยนไป
นายธีรวัฒน์ ลิ้มวสุรัตน์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม นายสุรพงษ์ บัวล้อม นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคม ด.ญ.จรรยารัตน์ สาหร่าย นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนบ้านสามร้อยยอด และ น.ส.ประเทือง บัวเผื่อน อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเด็กรักษ์ทุ่ง กล่าวยอมรับในทำนองเดียวกันว่า รู้สึกเสียดายจากสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ที่เคยมีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่สีเชียวเป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิด ตลอดจนสัตว์น้ำ และพืชน้ำชนิดต่างๆ
“แต่วันนี้พื้นที่เหล่านี้กลับกลายเป็นสีน้ำตาลหมดแล้ว พวกเราได้แต่หวังว่าอยากให้นายกรัฐมนตรี ช่วยสั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ ลงมาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขพื้นที่ทุ่งสามร้อยยอด กลับคืนมาเพื่อเป็นห้องเรียนธรรมชาติของพวกเขาต่อไป สิ่งสำคัญหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง สผ. ที่เข้ามาสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำฯ แต่วันนี้พื้นที่กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำระบบนิเวศได้รับผลกระทบ กลับไม่เข้ามาดูแลทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้องมูลพบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 เป็นลำดับที่ 1,734 ของโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็น 1 ใน 42 แหล่งของพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือนามานุกรมพื้นที่ชุ่มน้ำของเอเชีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 43,074 ไร่ หรือ 68.92 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กว่า 20,000 ไร่ บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ