xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดกว่า 3 หมื่นไร่เจอวิกฤตแล้ง น้ำแห้งขอดในรอบ 40 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - พื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด กว่า 3 หมื่นไร่ ตามอนุสัญญาแรมซ่า ลำดับที่ 11 ของประเทศไทย เจอวิกฤตภัยแล้งหนักน้ำในบึงแห้งขอดจนดินแตกระแหงมานาน 3 เดือนเต็ม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งบัวสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนพืชน้ำตายทั้งพื้นที่ นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อนกนานาชนิด รวมทั้งนกอพยพ และสัตว์น้ำต่างๆ ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีรายได้จากการจับปลา และถ่อเรือพานักท่องเที่ยวชมทุ่งสามร้อยยอด ขาดรายได้มานานกว่า 3 เดือน วอนหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาพื้นที่ชุมน้ำทุ่งสามร้อยยอด ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติอย่างเร่งด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สภาพของพื้นที่ชุมน้ำทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2551 เป็นลำดับที่ 1,734 ของโลก และเป็นอันดับที่ 11 ของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็น 1 ใน 42 แหล่งของพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติที่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือนามานุกรมพื้นที่ชุ่มน้ำของเอเชีย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 43,074 ไร่ หรือ 68.92 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดกว่า 20,000 ไร่ บริเวณศูนย์ศึกษาธรรมชาติบึงบัว ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก น้ำในบึงแห้งขอดจนดินแตกระแหงมานาน 3 เดือนเต็มแล้ว

วันนี้ (16 ก.ย.) นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติเขาสามรร้อยยอด ได้ลงสำรวจพื้นที่บริเวณดังกล่าว พบว่า ปัจจุบันกำลังวิกฤตอย่างหนักภายหลังน้ำในพื้นที่ชุมน้ำทุ่งสามร้อยยอดแห้งขอดในรอบ 40 ปีพื้นที่ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ประมาณ 23,000 ไร่ และที่เหลือยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ รวมๆ แล้วที่ได้รับผลกระทบกว่า 30,000 ไร่ ในปัจจุบันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาทำให้พื้นดินแตกระแหงสามารถลงไปเดินได้ทั่วทั้งพื้นที่

สิ่งสำคัญยังได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ทั้งบัวสายพันธุ์ต่างๆ ตลอดจนต้นธูปฤาษี กกสามเหลี่ยม แห้วทรงกระเทียม จอก และพืชน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชุมน้ำแห้งเหี่ยว และตายลงทั้งหมดแล้ว นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อนกนานาชนิด ตลอดจนนกอพยพตามฤดูกาลกว่า 116 ชนิด รวมทั้งสัตว์น้ำที่อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่มสามร้อยยอด และยังส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาเดินเที่ยวศึกษาเส้นทางสะพานไม้เพื่อชมบึงบัว โดยขณะนี้แทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะแห้งแล้งที่ติดต่อกันมาตั้งแต่ต้นปี

นายวัฒนา พรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาเขาเพชรบุรี กล่าวว่า ตนได้รายงานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ทราบปัญหาดังกล่าวแล้ว เพื่อให้แจ้งไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ทราบเพื่อหาแนวทางการแก้ไขพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด ซึ่งมีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งคงต้องอาศัยนักวิชาการที่มีความชำนาญเข้ามามีส่วนร่วมมาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ป้านิสากร ทองโปร่ง วัย 61 ปี ชาวบ้านสามร้อยยอด สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมน้ำทุ่งสามร้อยยอด ในพื้นที่ซึ่งมีรายได้จากการจับปลา และถ่อเรือพานักท่องเที่ยวชมทุ่งสามร้อยยอด กล่าวว่า ในปัจจุบันต้องขาดรายได้มานานถึง 3 เดือน และยังคงรอความหวังว่าจะมีฝนตกลงมา พร้อมยอมรับว่าครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี ของพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่มสามร้อยยอดที่แห้งขอด โดยในปัจจุบันในพื้นที่ปริมาณฝนที่ตกลงมาน้อยมาก และมีความเป็นห่วงว่าหากสภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอด ยังไม่มีน้ำไหลเข้ามาเติมพื้นที่ชุมน้ำที่นี่อาจเหลือเพียงแต่ชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

“อยากฝากให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงมาหาแนวทางแก้ไขเป็นการเร่งด่วน” ป้านิสากร กล่าว




ครู-นักเรียนเด็กกลุ่มสามร้อยยอดรักษ์ทุ่ง รวมตัวเรียกร้อง “นายกฯ ตู่” สั่งหน่วยงานหาทางแก้ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำ
ครู-นักเรียนเด็กกลุ่มสามร้อยยอดรักษ์ทุ่ง รวมตัวเรียกร้อง “นายกฯ ตู่” สั่งหน่วยงานหาทางแก้ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำ
ประจวบคีรีขันธ์ - ครู เด็กนักเรียน และกลุ่มเด็กๆ รักษ์ทุ่ง รวมตัวเรียกร้องนายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งลงมาศึกษาแก้ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำทุ่งสามร้อยยอดกว่า 30,000 ไร่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ หลังเจอปัญหาน้ำแห้งขอดส่งผลทั้งสัตว์น้ำ พืชพรรณไม้น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ตายจนหมด รวมทั้งนกน้ำ นกอพยพนานาชนิดได้รับผลกระทบรวมทั้งชาวบ้านที่ขาดรายได้ พร้อมเสนอให้หน่วยงานทดลองชุดลอกตะกอนซากพืชและสัตว์ที่ทับถมส่งผลให้ทุ่งตื้นเขิน ยอมรับปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอดได้เสียความสมดุลย์หมดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น