xs
xsm
sm
md
lg

ยันปลอดซัลฟิวริก! ท้าพิสูจน์คุณภาพยางอีสาน หลังสะพัด บ.ยักษ์ “มิชลิน-บริดจสโตน” ปัดซื้อ(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - นายกสมาคมชาวสวนยางพารา จ.นครพนม ท้าพิสูจน์คุณภาพยางปลอดซัลฟิวริก จี้บริษัทผลิตยางรถยนต์ยักษ์ใหญ่ “มิชลิน-บริดจสโตน” ทบทวนข่าวปล่อยไม่ซื้อยางอีสาน ย้อนถามมีเจตนาหรือเป้าหมายอะไร เพราะหลังข่าวลอยสะพัดทำชาวสวนยางถูกกดราคา ขายได้ราคาต่ำ



วันนี้ (7 ก.ย.) นายสันต์ อยู่บาง นายกสมาคมชาวสวนยาง จ.นครพนม ในฐานะกรรมการสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงปัญหาภายหลังมีบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยางรถยนต์ ทั้งมิชลิน และบริดจสโตนออกมาประกาศไม่เอายางอีสาน อ้างว่าไม่มีคุณภาพในการผลิต จากปัญหาการใช้กรดซัลฟิวริกผสมในยาง

โดยนายสันต์ยืนยันว่า ปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการซ้ำเติมเกษตรกร ทั้งที่ราคายางตกต่ำอยู่แล้ว ราคารับซื้อยางก้อนถ้วยประมาณกิโลกรัมละ 24 -25 บาท แต่พอมีข่าวไม่เอายางพาราอีสาน ทำให้กลุ่มพ่อค้ารับซื้อ รวมถึงเกษตรกรเกิดความกังวล

บางรายไม่รับซื้อทำให้ราคาลดลงอีก 2-3 บาทเหลือกิโลกรัมละประมาณ 22-23 บาท จึงต้องการให้บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยางมีการทบทวน พิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ว่ามีเจตนาหรือเป้าหมายอะไร หรือจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด แต่สิ่งที่ตามมาคือเกษตรกรถูกกดราคา ขายได้ราคาต่ำ

นายสันต์กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ จ.นครพนม ปัจจุบันมีเกษตรกรสวนยางประมาณ 25,000 ราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 3.8 แสนไร่ มีพื้นที่กรีดประมาณ 2 แสนไร่ มีผลผลิตต่อปีประมาณ 60,000 ตัน ส่วนใหญ่จะเป็นยางก้อนถ้วยเกือบ 100% ที่ส่งออกขาย จึงต้องการที่จะออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงเพื่อท้าพิสูจน์ การันตีว่ายางในพื้นที่ภาคอีสาน และยางในพื้นที่ จ.นครพนม มีคุณภาพปลอดสารซัลฟิวริก 100%

เพราะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางได้มีการรณรงค์งดใช้กรดซัลฟิวริกมาอย่างต่อเนื่อง โดยต่างก็ใช้กรดฟอร์มิกแทน

นายสันต์ระบุอีกว่า ล่าสุดได้มีการจัดซื้อสารแบเรียมคลอไรด์มาแจกจ่ายให้เกษตรกร โดยทำการตรวจคุณภาพก่อนนำไปจำหน่าย เพื่อเป็นการการันตี ลดข้อครหากับพ่อค้าที่รับซื้อ จึงต้องการออกมาเรียกร้องให้ทางบริษัทรับยางซื้อเห็นใจเกษตรกร อย่าเหมารวม อาจจะมียางพาราแค่บางส่วนที่ยังมีปัญหา แต่อย่าให้กระทบต่อภาพรวม เพราะเมื่อมีข่าวออกไปแล้วมันส่งผลกระทบต่อราคายางพารา พ่อค้าจุดรับซื้อบางรายถือโอกาสกดราคาทันที

ซึ่งกรณีที่บางพื้นที่มีปัญหาจริงควรใช้วิธีการพูดคุยกับองค์กรชาวสวนยาง หรือหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบหาทางรณรงค์ช่วยเหลือเกษตรกรให้พัฒนาปรับปรุงคุณภาพยาง เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคายาง

“ทุกวันนี้ราคายางถือว่าขายขาดทุนอยู่แล้ว ในส่วนของชาวสวนยางนครพนมเอง พร้อมท้าพิสูจน์ให้มีการหามาตรฐานด้วยการตรวจสอบคุณภาพก่อนรับซื้อ หากมีปัญหาจริงยอมให้งดรับซื้อทันที” นายสันต์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น