xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางอีสานชี้ข่าวสองค่ายยักษ์ไม่ซื้อยาง กระทบจิตวิทยาระยะสั้น และเป็นเกมการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี - ข่าวจริงข่าวเท็จชาวสวนยางอุบลราชธานี ไม่สนใจระบุ มีการใช้น้ำกรดให้ยางจับตัวดีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ไม่เคยเห็นผลกระทบ และไม่ใช้กรดตัวใหม่ เนื่องจากเพิ่มต้นทุนให้ชาวสวนยาง พร้อมขายให้กับประเทศที่ต้องการ โดยมองข่าวที่ออกมาเป็นเกมทางการค้าของพ่อค้ายางพาราเท่านั้น

ตามที่มีข่าวผู้บริหารบริษัทค้ายางพารารายใหญ่ในประเทศ ออกมาระบุว่า สองค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยางรถยนต์ของโลกคือ มิชลิน และบริสโตน ประกาศไม่รับซื้อยางพาราในภาคอีสาน เหตุเพราะใช้กรดซันฟิวริก เพื่อให้ยางจับตัวกันดี แต่ทำให้ยางรถยนต์เสื่อมคุณภาพการใช้งานเร็วและเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น

นายประสิทธิ์ กาญจนา ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เรื่องที่สองค่ายรถยนต์จะไม่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสาน เป็นเรื่องได้ยินมาได้ประมาณ 2 ปีที่แล้ว และไม่รู้เป็นเรื่องจริงตามข่าวหรือไม่

แต่ในความเป็นจริงการใช้กรดซันฟิวริกให้ยางจับตัวกันเร็วนั้น มีการใช้มาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และปัจจุบันก็ยังมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคในประเทศไทย

เมื่อหลายปีก่อน มีความพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรนำกรดฟอร์มนิก ซึ่งอ้างว่าเป็นกรดจากสารอินทรีย์มาใช้แทนกรดซันฟิวริก เพื่อให้ยางจับตัวดี แต่เกษตรกรไม่นิยม เนื่องจากเป็นกรดที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาแพงกว่ากรดซันฟิวริกที่สามารถผลิตได้เองในประเทศกว่าเท่าตัว และเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ชาวสวนยาง

ส่วนที่ระบุว่าเมื่อนำกรดซันฟิวริกมาใช้แล้ว ทำให้ต้นยางเสื่อมสภาพเร็วหรือยางรถยนต์ลดคุณภาพลง ตนไม่เคยเห็นงานวิจัยทางด้านนี้มาก่อน จึงขอให้บริษัทผู้ผลิตยางทั้งสองราย นำผลงานวิจัยออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการ เพราะปัจจุบันสวนยางของพี่สาวตนที่อยู่ภาคใต้ ต้นยางมีอายุกว่า 30 ปี และใช้กรดซันฟิวริกผสมในการทำยางก้อนถ้วย ก็ยังกรีดน้ำยางได้ตามปกติ ไม่ได้เสื่อมสภาพตามที่มีการกล่าวอ้าง

สำหรับการประกาศแบนยางพาราจากภาคอีสาน และล้มเลิกแผนการตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท มีผลกระทบด้านจิตวิทยาเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะชาวสวนยางในภาคอีสาน มีการส่งยางพาราไปขายให้กับพ่อค้าในภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นปกติอยู่แล้ว

รวมทั้งปัจจุบันบริษัทพีซีได้ร่วมกับประเทศจีน ก็ได้มาตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ที่จังหวัดเลย และมีแผนขยายโรงงานมาในจังหวัดอีสานใต้อีกแห่ง มีความต้องการใช้ยางพาราในภาคอีสานเป็นวัตถุดิบในการผลิต และไม่ได้มีข้อแม้ จะต้องเป็นยางที่ไม่ใช้กรดซันฟิวริกแต่อย่างใด จึงไม่มีผลให้ราคายางพาราในภาคอีสานปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกันทางชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางอุบลราชธานี ก็มีโรงงานผลิตยางแท่งแปรรูปส่งไปขายประเทศจีน และขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับพ่อค้าจากมาเลเซีย ซึ่งสนใจมาซื้อยางจากชุมนุมสหกรณ์ฯของเราด้วย

การมีข่าวแบนรับซื้อยางพาราในภาคอีสาน นายประสิทธิ์มองว่าเป็นเกมทางการค้าของกลุ่มพ่อค้ายางพารา แต่ไม่ทำให้ราคายางพาราของภาคอีสานลดราคาลงอย่างฮวบฮาบแน่นอน



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น