xs
xsm
sm
md
lg

ดั่งสะพานเชื่อมสวรรค์! “โขกู้โส่-สะพานบุญ” หมุดหมายใหม่เมืองปาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ตะลึงกันทั้งบาง “โขกู้โส่-สะพานบุญ” ที่สร้างจากแรงศรัทธาพี่น้องชนเผ่าทั้งไต-ปกากะญอ-ลีซอ รวมถึงคนเมืองปาย-พุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ ทอดยาวจากชุมชนบ้านแพมบก-สำนักสงฆ์ห้วยคายคีรีมฤคทายวันเสร็จแล้ว รอเปิดเป็นหมุดหมายใหม่ของเมืองปายเร็ววันนี้ นอภ.เห็นกับตาถึงกับเปรียบเป็นสะพานเชื่อมสวรรค์

วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “โขกู้โส่-สะพานบุญ” ที่สร้างขึ้นด้วยแรงใจแรงศรัทธาพี่น้องชาวไต ชาวปกากะญอ ชาวลีซอ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วสารทิศ (อ่านประกอบใน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9590000071750) ได้สำเร็จรอวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เป็นหมุดหมายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของเมืองปายในเร็ววันนี้

เป็นสะพานบุญทอดยาวผ่านผืนนา-ไหล่เขา จากบ้านแพมบก-สำนักสงฆ์ห้วยคายคีรีมฤคทายวัน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ท่ามกลางสายเมฆหมอกที่ลอยอ้อยอิ่งล้อทิวเขายอดไม้เขียวชะอุ่มหน้าฝน

ซึ่งคำว่า “โขกู้โส-สะพานบุญ” มาจากรากภาษาของพี่น้องชนเผ่าไต โดยคำว่า “โข” เป็นคำไต หรือภาษาไทใหญ่ที่ใช้เรียกสะพาน คล้ายคำไทยโบราณที่เรียกสะพานว่า “ขัว” และคำว่า “กู้โส่” เป็นคำไตที่พ้องกับคำไทยว่า “กุศล” หรือ บุญ นั่นเอง

นายธนกฤต ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอเมืองปาย จ.แม่ฮ่องสอน ได้ให้คำนิยามไว้อย่างน่าสนใจว่า “โขกู้โส่ เป็นสะพานบุญ เป็นสะพานเชื่อมสวรรค์ ที่เชื่อมผู้คนกับธรรมชาติ เชื่อมผู้คนให้เข้าสู่พระพุทธศาสนา เป็นสวรรค์ที่อยู่บนดิน อากาศก็สดชื่นบริสุทธิ์เหมือนอยู่บนสวรรค์ มาแล้วแค่เอื้อมมือก็คว้าสวรรค์มาได้...”

“สะพานบุญโขกู้โส่” ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแพมบก ห่างจากตัวเมืองปายแค่สิบกว่ากิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่เงียบสงบ สะอาดสะอ้าน.. เส้นทางสู่หมู่บ้านแพมบก ใช้ถนน 1095 จากตัวเมืองปาย ไปทางจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 5 กิโลเมตร จะเจอป้ายปากทางเข้าหมู่บ้านแพมบก และน้ำตกแพมบกที่ด้านขวามือ (สังเกตที่ปากซอยมีองค์การโทรศัพท์ตั้งอยู่) จากปากซอยเข้าไปอีก 7 กิโลเมตร ระหว่างทางเข้าไปมีความร่มรื่นจากไม้น้อยใหญ่ริมข้างทาง มีภูเขาสลับซับซ้อนให้มองอย่างเพลิดเพลิน ผ่านตัวหมู่บ้านซึ่งสะอาดเรียบร้อย ริมรั้วปลูกไม้ดอกพื้นบ้านเรียบง่ายแต่สดใสมองสบายตา

นายสุวรรณ แกน้อย ผู้ใหญ่บ้านแพมบก หมู่ 6 ต.ทุ่งยาว อ.ปาย เปิดเผยว่า ชาวบ้านแพมบกได้เตรียมพร้อมในหลายๆ ด้าน เพื่อที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเที่ยวชมสะพานบุญแห่งนี้ มีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในเรื่องของการจัดการขยะ ร้านค้า ภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อนักท่องเที่ยวและเป็นปัญหาในชุมชนกันเอง

ซุ้มประตูสู่สะพานบุญโขกู้โส่ทอดยาวผ่านทุ่งนาขั้นบันไดของชาวบ้านแพมบก ซึ่งกำลังเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกข้าวกันอยู่ สายฝนโปรยปรายพร้อมสายหมอกลอยอ้อยอิ่ง อากาศสดชื่นเย็นสบายยามเช้าตรู่ ทำให้การเดินบนสะพานไม้ไผ่ที่คดเคี้ยวไปมาเป็นระยะทางเกือบหนึ่งกิโลเมตรเป็นการเดินที่เพลิดเพลินเป็นอันมาก สะพานบุญกำลังนำพาเราไปสู่ “สำนักสงฆ์ห้วยคายคีรีมฤคทายวัน” สำนักสงฆ์ในดงไม้เขียวอันชุ่มชื้นและสงบเย็น

พระอาจารย์สาคร จารุธัมโม พระผู้ใหญ่อายุพรรษา 18 ปี ผู้ดูแลสำนักสงฆ์แห่งนี้ได้กรุณาเล่าความเป็นมาของสำนักสงฆ์และสะพานบุญโขกู้โส่

“เดิมที่ตรงนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่ร้างมานาน อาตมาเป็นพระฝ่ายอรัญวาสี (พระวัดป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ได้ธุดงค์ผ่านมา เลยปักหลักจำพรรษาอยู่ที่นี่เป็นเวลาสิบปีแล้ว ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวไต ซึ่งมีจิตศรัทธาและเลื่อมใสศาสนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็มาทำบุญเข้าวัดฟังธรรมเป็นอันดี มีการช่วยกันพัฒนาวัดกันอยู่ต่อเนื่อง รวมทั้งมีศรัทธาญาติโยมจากตัวเมืองปาย จากต่างจังหวัดไกลๆ เช่น กรุงเทพฯ สงขลา ก็มีมาประจำมิได้ขาด”

จากเวลาผ่านไปนับสิบปี พระสงฆ์สายปฏิบัติรูปนี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านในชุมชน รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียง มีความผูกพันยึดเหนี่ยวกับวัดมากขึ้น จนเป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง “โขกู้โส่” ขึ้นมา เพื่อความสะดวกในการเดินบิณฑบาตจากวัดที่อยู่ชายป่าค่อนข้างห่างไกลจากหมู่บ้าน ให้เดินตัดผ่านทุ่งนาและลำห้วยต่างๆ ได้

ชาวหมู่บ้านแพมบกซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องชาวไต หมู่บ้านปางตองของพี่น้องปกากะญอ หมู่บ้านแม่แล่บของพี่น้องชาวลีซอ ต่างมาช่วยงานบุญลงแรงสร้างสะพานแห่งนี้ด้วยกัน โดยมีคณะศรัทธาจากที่ต่างๆ มาช่วยสมทบทุนก่อสร้างทั้งจากตัวอำเภอปายเอง นำโดยผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภอปาย พันตำรวจเอก วรพล พลมณี

จึงนับได้ว่าสะพานบุญแห่งนี้สร้างสำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวปายอย่างแท้จริง

“อาตมาอยากให้ทุกคนที่จะมาเที่ยวสะพานและเยี่ยมชมวัดนี้เข้าใจชุมชน ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราดลงไร่นาของชาวบ้าน และตอนนี้กำลังทำความเข้าใจกับชาวบ้านที่ทำนาที่นี่ถึงเรื่องของการลดการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีต่างๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านเอง โดยในที่ของวัดที่มีการปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ต่างๆ จะไม่มีการใช้สารเคมีเลย ที่แพมบกนี้เป็นต้นน้ำที่ไปเป็นน้ำตกแพมบก ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมากันมาก ถ้าเราใช้สารเคมีก็เท่ากับทำร้ายผู้ที่มาเล่นน้ำตกนั่นเอง”

นอกจากการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามวิสัยพระป่าแล้ว พระอาจารย์สาครยังให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายในสำนักสงฆ์แห่งนี้ยังร่มรื่นไปด้วยไม้น้อยใหญ่ เสียงธารน้ำไหลแว่วมาไม่ขาดสาย สิ่งปลูกสร้างที่นี่ก็สมถะไม่ได้ใหญ่โตโอฬารเกินความจำเป็นใดๆ

“กุฏิและศาลาที่นี่ไม่ได้ตัดต้นไม้ในวัดเลยสักต้น ส่วนใหญ่ได้มาจากการที่ญาติโยมรื้อบ้านเก่ามาถวายวัด แล้วจึงได้จัดสร้างกันขึ้นมา...”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศรัทธาร่วมสร้างบุญ “โขกู้โส่-สะพานบุญแห่งศรัทธาเชื่อมสู่สวรรค์” หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอปาย กำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ปัญหาก็คือ ชาวบ้านมีความพร้อมที่จะต้อนรับและจัดการกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพียงใด, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด ไปจนถึงหน่วยงานระดับชาติ จะมีส่วนร่วมในการดูแลรักษากันอย่างไร..? บทเรียนจากสถานที่อื่นๆ จะได้นำมาศึกษากันหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามเฝ้าดูกันต่อไป..!!

ตะวันเริ่มสูงขึ้น แดดแรงร้อนกำลังจะส่องแสงลงมา... สายธารแห่งศรัทธา “สะพานบุญ-โขกู้โส่” เป็นเส้นทางนำพาผู้คนไปแนบชิดกับธรรมชาติอันพิสุทธิ์ และเชื่อมไปสู่พระบวรพุทธศาสนา เชื่อมสู่สวรรค์ เชื่อมต่อกับความสามัญแห่งธรรมชาติ ที่ไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาทำลาย..

“โขกู้โส่.. สะพานบุญ!!”







กำลังโหลดความคิดเห็น