ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สมัยนี้ใครๆ เขาก็ไปภูทับเบิกกัน? ฮิตแค่ไหนพิสูจน์ได้จากกระทู้รีวิวท่องเที่ยวในเว็บบอร์ดดัง หรือฟีดข่าวในสังคมออนไลน์ ที่มักจะปรากฏเรื่องราวของภูทับเบิกอยู่บ่อยครั้ง
อีกนัยหนึ่ง ภูทับเบิก กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวตอบโจทย์ทุนนิยมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว รีสอร์ทผุดระเกะระกะตา เต็นท์ที่พักผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รองรับนักท่องเที่ยวที่เฮโลขึ้นภูทับเบิก ชมทะเลหมอกระฟ้าและแปลงกะหล่ำปลีผืนใหญ่สุดลูกหูลูกตา ทั้งนายทุนทั้ง ชาวม้งอ้ากระเป๋าเตรียมรับเม็ดเงินจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้าสู่ยอดภูแบบวินวิน
แม้ที่ดินผืนนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นเพียงที่ดินสัญญาใจของชาวเขาเผ่าม้งแบ่งกันเองว่าที่ดินแปลงนี้สัดส่วนเท่านี้เป็นของใคร แต่นายทุนนอกพื้นที่ก็ยอมรับความเสี่ยง จับชาวม้ง ผูกพันธสัญญาให้ค่าเช่าที่ดินเงินแสน ด้วยเหตุนี้เองแปลงกะหล่ำปลีอันกว้างใหญ่ถูก ปรับเปลี่ยนเป็นรีสอร์ทที่พักรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด บ้างเต็มใจบ้างโดนหลอกล่อ ไม่ใช่ว่าชาวม้งจะยินดีไปเสียหมด เพราะบางส่วนก็ไม่ได้เห็นด้วยที่ถูกรุกที่ทางไปทำบ้านพักรีสอร์ท
ความไร้ทิศทางในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวภูทับเบิก กำลังนำพาไปสู่จุดจบเดียวกับ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เชียงคาน จ.เลย “ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์” ได้พูดคุยกับ นิภารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาชาวเขา จ.เพชรบูรณ์ (ภายใต้สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) หนึ่งในมดงานผู้ขับเคลื่อนสวัสดิภาพชาวเขาและพยายามตีกรอบให้ภูทับเบิกเป็นไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ซึ่งจะมาตีแผ่ปมปัญหาที่ซุกใต้ทะเลหมอกที่หน่วยงานภาครัฐยังตีโจทย์ไม่แตก
ย้อนกลับไปในรอบ10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเริ่มมีส่งเสริมการท่องเที่ยว ภูทับเบิก เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้บ้าง
ปี 2548 เราเปิดภูทับเบิกให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เริ่มรู้กันจักกันกว้างขวางว่าเป็นสถานที่ที่บรรยากาศดี มีแปลงกะหล่ำปลีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งเป็นจุดชมทะเล หมอกสวยงาม หน่วยงานของเราเองส่งเสริมในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ส่งเสริมอาชีพในเรื่องของการสร้างอัตลักษณ์ สร้างความเข้าใจต่อชาวเขาราษฎรชาวเขาเผ่าม้งในเรื่องการเป็นพลเมืองไทย หน้าที่ของเราส่งเสริมสวัสดิการสังคมบนพื้นที่สูง
พอมาปี 2553 จากเดิมที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามากางเต็นท์นอน เริ่มมีรีสอร์ทของเอกชนเข้ามา โรงเตี๊ยม เข้ามาสร้าง และก็ราษฎรชาวเขาเองอีก 2-3ราย สร้างที่พัก ก็มีคนเข้ามาแจ้งที่หน่วยงานเรา ทางเราก็แจ้งเตือนไปถึงทางผู้ประกอบการแต่ปรากฏว่าเขาไม่ได้ดำเนินการในการรื้อถอน เราก็เลยมีการแจ้งความดำเนินคดี เขาก็ยอมรับสารภาพ ในส่วนที่ผ่านมาก็มีในเรื่องการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน แต่หลังจากดำเนินคดีเสร็จแล้ว เสียค่าปรับแล้ว เขาก็ยังทำกันแถมยังต่อเติมอีก ก็มีบ้านพักรีสอร์ทเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งทางเราไม่ได้นิ่งนอนใจก็ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ก็ยังกระทำความผิดกันอีก
คือพื้นที่ตรงนั้นมันไม่ใช่อุทยานแห่งชาติและมันไม่ใช่ป่าสงวน เป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หรือว่าอำนาจในการได้มาซึ่งกฎหมาย ซึ่งเริ่มมีการสร้างบ้านพักรีสอร์ทต่างๆ หลักจากที่ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้าไปภูทับเบิกเป็นจำนวนมาก พี่น้องชุมชนชาวเขาจะแบ่งพื้นที่การทำปลูกผักปลูกกะหล่ำ ปลี แล้วอีกส่วนหนึ่งก็สร้างที่พักรีสอร์ท ส่วนพวกเอกชนที่เขาไปดำเนินการก็ไปเช่าพื้นที่ของชาวเขา เขาได้ค่าเช่าปีละหลายแสนแล้วก็มีการยินยอมให้นายทุนเช่า แล้วผลประโยชน์ก็ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เป็นความสมยอมทั้งสองฝ่าย เราก็ไปห้ามไม่ได้ ตอนนี้เราก็พยายามที่จะชี้แจงและสร้างจิตสำนึกว่าคนส่วนใหญ่มาก เขามาดูแปลงกะหล่ำปลีที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งตอนนี้ก็หายไป ครึ่งหนึ่งเลยนะคะ ครึ่งหนึ่งแบ่งเป็นที่พักอีกครึ่งหนึ่งยังทำเกษตรอยู่ แปลงที่เป็นแปลงใหญ่จริงๆ ยังอยู่นะคะ แต่ว่าเราก็กลัวว่าครึ่งที่มันมีอยู่มันจะถูกปรับเปลี่ยนไป เราพยายามสร้างจิตสำนึกให้ความรู้ต่างๆ ซึ่งคนดั้งเดิมจริงๆ จะหวงในเรื่องของพื้นที่
ที่ดินบนภูทับเบิกเป็นของกรมป่าไม้ ชาวเขาไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ ที่ยืนยันการเป็นเจ้าของใช่ไหม
ที่ดินข้างบนเป็นที่ของกรมป่าไม้ ที่กรมพัฒนาสังคมฯ ขอใช้จากกรมป่าไม้ แล้วมีมติ ครม.09 ให้กันพื้นที่ออกจากป่าในเขต อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เพื่อให้คนในพื้นที่สูงชนเผ่าม้ง เดิมทีวัตถุประสงค์เป็น นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา แต่ว่าเนื่องจากว่าเป็นภูเขาสูงชันและก็มีความหนาแน่นในเรื่องลุ่มน้ำและความที่สมัยนั้นเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์ ก็ไม่สามารถตราเป็นกฎหมายเป็นนิคมฯ เป็นกฤษฎีกาออกมาได้ จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีกฎหมายอะไรเลย ทุกคนเขาก็อยู่กันมาแบบนี้ เรามีการทำการรังวัดพื้นที่ ชาวบ้านเองก็เรียกร้อง คือไม่ใช่โฉนดแต่เป็นเอกสารอะไรก็ได้ ที่เป็นการระบุว่าพื้นที่แปลงใดเป็นของใคร เราก็ไปดำเนินการแต่ไม่แล้วเสร็จเนื่องจากงบประมาณส่วนหนึ่งไม่เพียงพอและติดขัดช่างรังวัดขาดแคลน
ตอนนี้ก็ยังรอในเรื่องของ ผังเมืองรวม จ.เพชรบูรณ์ รอคณะกรรมการพิจารณากฤษฎีกา ถ้าผ่านทาง รัฐมนตรีกระทรวงมหาไทยลงนาม ก็จะประกาศใช้ ถ้า พ.ร.บ.ผังเมือง ออกมาก็จะทราบว่าตรงไหนสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลน ใครจะทำอะไรต้องขออนุญาตจากทางการก่อน ต้องมีพิจารณาต่อไป และจะจัดระเบียบสวยงามตรงไหนที่สร้างแล้วขัดธรรมชาติทำสีลูกกวาดก็อาจจะต้องปรับแก้ ถ้า ครม. มีมติเห็นชอบผังเมืองฯ ออกมา ก็จะสามารถจัดระเบียบได้เยอะค่ะ
พ.ร.บ.ผังเมืองรวม จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ภูทับเบิก ขณะอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาของคณะกฤษฎีกา คาดว่าจะราวเดือนธันวาคม 2558 น่าจะมีการประกาศใช้
เท่ากับว่าชาวเขาจับจองพื้นที่บนภูทับเบิกกันเองโดยที่ไม่มีเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินผืนนั้นๆ
ชาวบ้านไม่มีอะไรในมือเลย คือจับจองกันเอง เพียงแต่ว่าเป็นสัญญาใจตรงนี้ของใครๆ มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เราก็ดูแลลำบากนะเพราะมันไม่มีอะไรเลย เราไม่มีกฎหมายดำเนินการอะไรก็ต้องอาศัยกรมป่าไม้ดูแล ชาวเขาเองเราดูแลเขามาตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราต้องมีปัญหาในเรื่องของการต้องแจ้งความดำเนินคดีการต่างๆ ซึ่งตัวเขาเองเขาก็ไม่พอใจหน่วยงานเราอย่างยิ่ง เขาโกรธมากเลยที่เราแจ้งความดำเนินคดีต่างๆ ตรงนี้
ภูทับเบิกเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ แล้วมีการปลูกสร้างบ้านพักรีสอร์ทได้อย่าง
เป็นการไปสร้างโดยที่ไปตกลงกันเองไปหาชาวเขาเจ้าของที่ ดูว่าที่ดินแปลงนี้ของใคร แล้วเขาก็มีการเปลี่ยนมือโดยสัญญาเช่าในชื่อม้ง เขาถือว่าการลงทุนไม่กี่ปีก็ได้เงินคืน ก็ไปทำสัญญาเช่ากับชาวบ้านเลย เป็นสัญญาที่ทำกันเอง
พื้นที่บริเวณใดอยากก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ทก็ถือวิสาสะสร้างโดยที่กรมป่าไม้ไม่ทราบเรื่อง
กรมป่าไม้ไม่รู้ เพราะว่าเขารู้ว่าการขออนุญาตกรมป่าไม้จะต้องติดขัดในเรื่องของระเบียบการอะไรต่างๆ เขาไม่สนใจเขาสร้างเองเลย เขาถือว่าเราดำเนินคดี เขาก็ไปต่อสู้แล้วก็กลับมาทำใหม่ หลายรายที่เราดำเนินคดีไปแล้วมีคำสั่งศาลให้ออกไป เขาก็ไม่ออกแถมยังก่อสร้างเพิ่มเติม ถ้าโดนอีกก็ไปเสียค่าปรับ ไปอุทธรณ์
ทางเรา กรมพัฒนาสังคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจนะ ร่วมกับกรมป่าไม้ดำเนินการแล้ว จับกุมมาแล้ว เราดำเนินการตั้งหลายรอบจนเราเกิดความบาดหมางกับพี่น้องชาวเขาด้วยซ้ำ เพราะว่าเราทำงานกับชาวเขาทำงานกับมวลชน แต่ต้องเป็นคนแจ้งจับ เราก็เหมือนพ่อเหมือนแม่แล้วเขาเหมือนลูก เหมือนเราไปแจ้งจับลูกตัวเอง ซึ่งเราทำงานกับเขามาตลอด แต่ว่าตรงนี้เราก็ต้องทำตามนโยบาย ถามว่าอยากทำไหม? ไม่อยากทำ!
แล้วตอนนี้ที่พักบนภูทับเบิกมีอยู่ทั้งหมดกี่แห่ง
พื้นที่ที่มีการก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ทที่เรามีข้อมูลประมาณ 55 ราย เป็นชาวเขาประมาณ 40 ราย ที่เหลือเป็นคนไทยพื้นราบ ส่วนใหญ่รีสอร์ทแต่ละแห่งสร้างที่พักมาประมาณ 1-2ไร่ ไม่ได้เยอะนะพื้นที่บนเขา บางที่รีสอร์ทก็ 2 งาน บางรีสอร์ทก็ 1 ไร่ ก็ค่อนข้างเยอะ ด้านบนมีความลาดชัน จะสร้างเยอะก็ไม่ได้ ค่อนข้างที่จะชั้นอันตราย อย่างรีสอร์ทใหญ่ๆ ส่วนมากเป็นของผู้ประกอบการณ์นอกพื้นที่ ส่วนใหญ่ที่มีสถานที่พักมีความทันสมัยต่างๆ อันนั้นจะเป็นของคนข้างนอก
มีข่าวว่ารีสอร์ทบนภูทับเบิกก่อปัญหาหลายเรื่องเลย โดยเฉพาะเรื่องปัญหาขยะจำนวนมาก
ค่ะ ความเจริญตามมามันก็มีปัญหา เรื่องขยะมีการจัดการตลอดนะคะ โดยเฉพาะทางอำเภอร่วมกับทาง อบต.วังบาล ตรงนี้เห็นว่าทาง อบต. เขาจะทำที่กำจัดขยะข้างบนเลยนะคะ ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงนี้ท่านผู้ว่าฯ ก็สั่งกำชับทาง อบต. ในพื้นที่รับผิดชอบ ให้ทำในเรื่องของการเชิญชวนนักท่องเที่ยวนำขยะเอามาทิ้งด้านล่าง เบื้องต้นทราบว่าจะสร้างที่กำจัดขยะด้านบน เพราะทุกวันนี้ทาง อบต. เขาต้องขนขยะลงมากำจัดข้างล่าง ก็เป็นปัญหา เนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนเยอะมาก ช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ
ส่วนตัวมองว่าพื้นที่ภูทับเบิกทรุดโทรมลงหรือเปล่า
โดยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ถ้าเราเป็นคนรักธรรมชาติเราก็จะมองว่ามันระเกะระกะ การสร้างรีสอร์ทมันบดบังในเรื่องของธรรมชาติ แต่เรามาพูดกันตอนนี้ตอนที่เขาสร้างกันไปแล้วจะทำอย่างไร? บางจุดมันก็เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมาเราทุกคนก็พยายามเข้ามากางเต็นท์ แต่พอมาก็ดูว่าที่พักมีอะไรอำนวยความสะดวกไหม มีทีวีไหม มีไวไฟไหม ทุกคนก็ต้องการความสะดวกสบาย ทั้งชาวม้งเองทั้งคนเป็นนักลงทุนให้กับทางชาวม้ง ก็พยายามที่จะหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ที่เขาไปพัก เพราะฉะนั้น ต้องให้พวกเราช่วยกัน นักท่องเที่ยวต้องพิจารณาดูเองแล้วว่าจะเลือกพักตรงไหน อย่างจุดไหนที่สร้างไม่มีความปลอดภัยต้องหลีกเลี่ยง
ทราบช่วงวันหยุดเทศกาลการจราจรบนภูทับเบิกติดยาวเป็นกิโลๆ เลย
โอ้โห! ยาวมากค่ะ ตอนนี้ก็สร้างความปวดหัวให้กับทางเรา ต้องจัดการจราจรทุกปี เราก็มีการประชุมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องทุกครั้ง ปีที่แล้วท่านผู้ว่าฯ ก็ลงไปเองไปจัดการจราจร จัดที่กลับรถ รณรงค์ไม่ให้จอดรถซื้อของข้างทางเพราะเดี๋ยวรถติด บางทีก็ได้แค่ระดับหนึ่ง เอาจริงๆ ก็ควบคุมนักท่องเที่ยวไม่ได้ จอดซื้อของบ้าง จอดถ่ายรูปบ้าง บางทีก็ไม่ขับไปตามทางที่กำหนด คือรถเลนเดียวค่ะมันก็ติดมาก และที่พักต่างๆ ก็แน่นไปหมด จริงๆ แล้วเราอยากให้เดินทางไปในช่วงที่ไม่ใช่เทศกาล เพราะว่าไปตอนไหนบรรยากาศก็เย็นสบายตลอดปี โดยเฉพาะวันหยุดต่อเนื่องคนเยอะตลอด อยากให้มาวันธรรมดาไม่ใช่เทศกาลเพราะเป็นปัญหาค่อนข้างมากเหมือนกัน ในการจัดการ การจราจร ห้องน้ำก็เหมือนมาแย่งกันใช้ ตรงนี้ทางจังหวัดพยายามจัดการอยู่ตลอดค่ะ
ปัญหาต่างๆ ที่มองเห็นมันสะท้อนว่าภูทับเบิกโตเร็วจนเรารับมือไม่ทัน
ใช่ๆ ก็คืออาจจะขาดการวางแผนนะ เพราะว่าเราไม่ได้มีการวางแผนเตรียมการที่ดี เพราะว่ามันโตเร็ว เริ่มโปรโมตภูทับเบิก เริ่มตั้งแต่เปิดตัวภูทับเบิกนำเอากิจกรรมต่างๆ เข้ามาเยอะแยะมาก หลังจากนั้นก็ไม่ต้องโปรโมทอะไรแล้ว มีคนมาเอง ไม่ต้องมีกิจกรรมเยอะแยะมากมาย เดี๋ยวนี้ทุกคนไปภูทับเบิกหมดเลย
กรมพัฒนาสังคมฯ เคยประชุม เรียกผู้ประกอบการมาสร้างความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้บริการนักท่องเที่ยว การไม่เอารัดเอาเปรียบ เรื่องของราคา การบริการที่สะอาด เพราะว่าทุกอย่างมันดำเนินการไปแล้วเราก็ให้ความรู้ไปให้เขาเกิดการตระหนักในส่วนของการดูแลไม่เอาเปรียบ สร้างจิตสำนึกให้ตระหนัก ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องที่พักในการดูแล เรื่องความสะอาดต่างๆ เราก็ให้ความรู้ ทั้งเรื่องขยะมูลฝอย รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาให้ความรู้กับผู้ประกอบการข้างบนให้ดูแลนักท่องเที่ยว
วิถีชีวิตของชาวเขาก่อนและหลังมีการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกพืชผัก ส่วนใหญ่เขาขยัน แล้วก็พอมีในเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาส่วนหนึ่งก็จะขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ขายพืชผักที่เขาปลูก ก็จะขายดีมากเลยในช่วงที่นักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งก็มีรายได้ให้กับพี่น้องชาวเขา ถือว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจและเป็นรายได้ให้กับชาวเขา อย่างพวกที่ปลูกกะหล่ำปลีก็มีรายได้ รีสอร์ทที่พักก็มี รายได้ พวกที่ไม่มีก็ขายของชำร่วยขายพืชผัก บางรายก็รับจ้างในรีสอร์ทที่พักต่างๆ บางรายก็รับจ้างขนกะหล่ำปลี คันละ 2,500 วันหนึ่งก็ขน 2 เที่ยวก็ประมาณสัก 5,000 ก็ทำให้ชาวบ้านเกิดรายได้ค่อนข้างดี
อย่างรีสอร์ทหนึ่งเราถามผู้ใหญ่บ้านที่มีที่พัก เขาบอกเขาได้ 6-7 ล้านต่อปี แล้วเฉลี่ยรีสอร์ทอื่นๆ เป็นหลักล้านอยู่แล้ว คืนหนึ่งที่พักได้เป็นแสน สร้างรายได้มหาศาลให้กับพี่น้องทั้งชาวเขาทั้งผู้ประกอบการเลย ราคาห้องหนึ่ง 3,000 ไม่ใช่ถูกนะ แพง! เราก็พยายามบอกอย่าไปเอาราคาแพง พยายามสร้างมาตรฐาน อย่างเรื่องอาหารก็ควบคุมอยู่ไม่ให้เอาราคาแพง
มีหลายคนพูดว่า ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์ จะมีจุดจบแบบเดียวกับ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน และ อ.เชียงคาน จ.เลย มีความคิดเห็นอย่างไร
กลัวนะคะ กลัวอนาคตจะเป็นแบบนั้น เราก็เคยประชุมชี้แจงชาวบ้านว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะไม่มีใครเดินทาง สุดท้ายภูทับเบิก จะเป็น ‘ภูทับเบิกสะอื้น’ อย่างที่ใครๆ พูด ก็คือมันจะไม่มีคนมาเที่ยว เพราะมันเกิดเหตุการณ์ตัวอย่างแล้วบางแห่งสุดท้ายก็ร้างราไป