xs
xsm
sm
md
lg

“นูหรี” วิถีปรองดองของ “มุสลิมจะนะ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร์
 
โครงการร่วมสร้างชุมชน และท้องถิ่นให้น่าอยู่ ของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. ใช้นูหรีเป็นเครื่องมือแก้ปัญหายากๆ รวมทั้งขัดแย้งเชิงแนวคิดกรณีบ้านแคเหนือ ตำบลแค อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
 
ครูอะหมัด หลีขาหรี ผู้รับผิดชอบโครงการวิทยาลัยทุ่งโพ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์ชุมชนน่าอยู่ เล่าความเป็นมาของบ้านแคเหนือ ว่า เป็นชุมชนที่เคยอยู่กันแบบพี่น้องมีความรักความสามัคคี กระทั่งสถานการณ์การเมืองระดับชาติเข้าสร้างกระแสแบ่งฝักฝ่าย กำหนดสีเสื้อ คนถูกแบ่ง 2 ฝ่าย
 
กระบวนการนำชุมชนพ้นวิกฤตขัดแย้งนำโดย ครูอะหมัด ใช้เวทีประชาคมของหมู่บ้านเรียนรู้ วิเคราะห์ปัญหาชุมชม พร้อมการทำนูหรี
 
คำว่า “นูหรี” เป็นประเพณีงานบุญจัดเลี้ยงอาหารอย่างไม่เป็นทางการ ไม่มีรูปแบบ เชิญคนมาร่วมรับประทานอาหารโดยไม่รับซอง และแขกที่ได้รับเชิญก็จะต้องมาร่วมงาน ถ้าไม่มาร่วมงานก็จะรู้สึกผิดประเพณี ผู้มาร่วมงานจะช่วยกันประกอบอาหารที่เจ้าภาพเตรียมไว้ ตลอดจนรับประทานอาหารร่วมกัน มีการปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นที่ทางกลุ่มสนใจ
 
ตามหลักการศาสนาถือว่า การทำบุญโดยการจัดเลี้ยงอาหารผู้อื่น ถือว่าจะได้รับผลบุญยิ่งใหญ่
 
“ก่อนขัดแย้งกัน ปกติชุมชนเราก็มีนูหรีกันอยู่แล้ว อย่างรอมฎอน งานเมาลิด มีการร่วมรับประทาน ขอพรร่วมกัน พอมีปัญหาสีเสื้อนั่นแหละกลับห่างหาย ไม่เข้มข้นเหมือนเมื่อก่อน จังหวะนี้ก็ถือว่ามาฟื้นฟูส่วนนี้ไปด้วยกัน” ครูอะหมัดเล่าว่า สถานที่ในการเสวนา และจัดนูหรีนั้น เจาะจงใช้ศาสนาสถานสาขาย่อยของมัสยิดเรียกว่า “บาลายทุ่งโพ”
 
แม้ว่าฉากหน้าของการทำโครงการ สสส. มีเป้าหมายสร้างชุมชนน่าอยู่ก็ดำเนินไปตามปกติ มีแต่ระดับคณะทำงานแอบซ่อนวาระสร้างวิถีความปรองดองโดยวิถีนูหรีเป็นหลัก จนเกิดผลสำเร็จผลโดยชาวบ้านไม่รู้ตัว มาถึงวันนี้การขับเคลื่อนสามารถพัฒนามาเป็นวิทยาลัยทุ่งโพ ต้นแบบของการเรียนรู้อันโดดเด่นในเรื่องการปรองดองระดับชุมชน ที่กลุ่มคนจากหลายพื้นที่มาขอดูงาน
 
กระบวนการเปลี่ยนชุมชนขัดแย้งร้าวลึกทางการเมือง โดยกระบวนการนูหรี มีรายละเอียดอันเป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนที่นี่ เช่น การแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ แจ้งนูหรีผ่านหอกระจายเสียงให้คนรับรู้โดยทั่วกัน มีเป้าหมายคน 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเด็กและเยาวชน, ผู้นำชุมชน, แม่บ้าน, ผู้สูงอายุ และองค์กรชุมชน ทุกครั้งจะมีผู้นำทางศาสนาอิสลาม กำนัน และนายก อบต.มาร่วม
 
นอกจากประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย ครูอะหมัด ใช้วิธีจะออกหนังสือเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่ามีเกียรติ ใช้วิธีการประชุมแบบมืออาชีพ กล่าวคือ ไม่ยืดเยื้อ สำหรับนูหรี อาหารเย็นนั้นรอผู้มาร่วมทุกคนอย่างแน่นอน
 
กิจกรรมดังกล่าวจัดทุกเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.30 น. หลังการละหมาดมัฆริบที่ทุกคนว่างจากภารกิจต่างๆ ในบรรยากาศแดดร่มลมตกริมทุ่ง นูหรีเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ดึงให้ทุกคนมาร่วม มีการบอกย้ำแก่ชาวบ้านทุกคนอยู่เสมอว่า คนไม่มาร่วมก็เสียสิทธิ ซึ่งปกตินูหรีเป็นบรรยากาศที่มีความสุข ทุกคนอยากมาร่วมอยู่แล้ว งานบุญของพี่น้องมุสลิมทุกคนพร้อมจะมาช่วยกันทำอาหาร ช่วยกันกิน และร่วมละหมาดขอพร
 
เมื่อเกิดเวทีสามารถเปิดหัวใจผู้คน ผู้นำชุมชนคนหนึ่งจึงกล้าสะท้อนออกมาด้วยถ้อยคำตรงๆ กลางที่ประชุมว่า ชาวแคเหนือเคยอยู่กันอย่างเอื้ออาทร บ้านหนึ่งแกงเดียว แต่ได้กินหลายแกง เพราะเอาไปให้คนอื่นแบบแลกเปลี่ยนกัน แต่มาทุกวันนี้เริ่มจะไม่ถูกกัน เกิดความขัดแย้งกัน ไม่พูดกัน เพราะผลประโยชน์ไม่เท่าเทียมกัน ควรหันหน้ามาหากัน ทำให้บรรยากาศอึมครึมเนื่องมาจากกระแสแบ่งแยกทางการเมือง กลับมาสู่บรรยากาศแบบเก่าๆ อันมีความสุขของชุมชนอีกครั้งหนึ่ง
 
กิจกรรมเวทีสานเสวนา และนูหรีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนสังคมให้ตื่นตัวมามองตัวเองแบบ 2 ด้าน แทนที่จะมองมิติเดียว สามารถลดความขัดแย้งที่ผ่านมาได้
 
ครูอะหมัด มองว่า นูหรีเป็นกิจกรรมการสลายพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผล เพราะเป็นงานเลี้ยงตามวิถีเดิม ชาวบ้านออกมาช่วยกันเตรียม ช่วยกันปรุงอาหาร ทำทุกขั้นตอน  เป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายให้คนที่หมางเมินไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดคุยกันมาคุยกัน แบบเป็นธรรมชาติของพวกเขา
 
คณะทำงานยังออกแบบนูหรีให้ช่วยกันทำอาหารบางอย่างที่อาศัยความสามัคคี เช่น ขนมโค เพราะการทำขนมโคจะต้องรวมพลังนวดแป้ง ตัดน้ำตาลแว่น ปั้น ต้ม คลุก ฯลฯ ระหว่างนี้เองชาวบ้านกลับมาพูดคุยกัน ปรับทุกข์กัน กระทั่งจูงลูกจูงหลานมาพบปะญาติผู้ใหญ่โดยไม่มีเงื่อนไข หรือขัดเขิน จากจุดนี้กระบวนการมีส่วนร่วมของคน 92 ครัวเรือนของบ้านแคเหนือกลับมาอีกครั้ง
 
“ถ้าไม่จัดนูหรี โอกาสที่เขาจะมาร่วมงานอย่างนี้มีน้อย โอกาสนี้คณะทำงานระดับผู้นำที่มีความรู้ของชุมชน รู้ว่าจะทำอะไร จึงเริ่มเปลี่ยนประเด็นขัดแย้ง จากการเมืองวิวาทะร้านน้ำชา มาเป็นพูดเรื่องวิทยาลัยทุ่งโพ คุยกันว่าจะทำอะไรเพื่อชุมชน เมื่อนั้นคนค่อยเคลื่อนกลับมาหากัน สร้างการยอมรับได้ว่าการเมืองเป็นเรื่องแนวคิดส่วนตัวของแต่ละบุคคล ไม่นำมาถกเถียงให้เสียบรรยากาศ”
 
เวทีกลุ่มนำข้อเสนอดังกล่าวในเชิงทางการยังมีการสังเคราะห์เป็นหลักสูตรวิทยาลัยทุ่งโพด้วย เพื่อให้คนมาเรียนร่วมกัน ประกอบด้วย หลักสูตรครอบครัวอิสลาม : ครอบครัวสุขสม ชุมชนเข้มแข็ง, หลักสูตรฟัรดิฟายะห์ : จิตอาสาสู่การพึ่งพาอาศัย, หลักสูตรสิทธิ (ฮัก) : สิทธิบุคคล สิทธิชุมชน สร้างความสมดุล, หลักสูตรประวัติศาสตร์ชุมชน : เรื่องเล่าวันวานบ้านแคเหนือเพื่อก้าวสู่อนาคต และหลักสูตรการจัดการขยะ : ขยะมีค่า พัฒนาคุณภาพชีวิต
 
การให้ชาวบ้านมาเรียนหลักสูตรต่างๆ ที่วิทยาลัยทุ่งโพ ที่นำโดย ครูอะหมัด ที่สนับสนุนโดย สสส. สะท้อนโดยความต้องการชาวบ้านมองปัญหาชุมชนผ่านเวทีสานเสวนา และนูหรี นอกจากชาวบ้านกลับมามีความผูกพัน ความรัก สามัคคีแบบพี่น้องเหมือนเดิม สิ่งที่ได้มามากกว่านั้นคือ เมื่อชุมชนเข้มแข็งระดับหนึ่ง ยังพบว่า สามารถสร้างกลไกชุมชนจากทีมงานกรรมการหมู่บ้าน พัฒนาเป็นกรรมการทำงานพัฒนาต่อยอดอีกหลายเรื่อง
 
“ศิษย์วิทยาลัยทุ่งโพแสดงความคิดเห็นได้แบบไม่ต้องทะเลาะกัน นี่คือสิ่งใหม่ที่เกิดตามมา ใครชอบใครเชียร์ใครก็พูดได้ แต่ไม่ต้องทะเลาะกัน กลับมานั่งโต๊ะเดิมกันได้ วัฒนธรรมความขัดแย้งเปลี่ยน ยกระดับความคิด วุฒิภาวะ แต่ก่อนพูดหยาบ แต่พอยอมรับความจริง แม้รับความข่มขื่น เจ็บปวด มันก็พูดได้โดยไม่มากล่าวหาใคร ทำบรรยากาศคลี่คลายดีขึ้น”
 
ผ่านช่วงขัดแย้งมาได้ ใครจะเปิดตัวว่าเข้าข้างการเมืองฝ่ายไหนก็ไม่มีปัญหาอีกแล้ว เพราะได้กลับไปสู่การเป็นชุมชนเดิมที่มีความผูกพันใกล้ชิด มีความเป็นเครือญาติ ถ้ามีการจัดกิจกรรมทุกคนก็พร้อมมาร่วม เข้ามานั่งคุยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องการเมือง
 
หลังการปรองดองมีสิ่งดีๆ หลั่งไหลกลับมาสู่ชุมชนชุมชน พร้อมขับเคลื่อนทำเรื่องเชิงการพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2557 นี้ครูอะหมัด พัฒนาต่อยอดสร้างกลุ่มจิตอาสา 5 กลุ่ม ประกอบด้วย อาสาสมัครเฝ้าระวังยาเสพติด อาสาสมัครยุวดาอีย์ (ประเด็นเยาวชนและครอบครัวอิสลาม) อาสาสมัครมัคคุเทศก์อาสา อาสาสมัครคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะรับอาสาสมัคร จำนวน 30 คน มาคิดแผนพัฒนาศักยภาพ และทำงานกันแต่ละกลุ่ม
 
เร็วๆ นี้ชาวบ้านแคกำลังร่วมจัดงานของดีบ้านแค เพื่อเดินไปสู่การสร้างชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มีหลายหน่วยงานพร้อมเข้ามาสนับสนุน ทุกวันนี้บ้านแคมีธรรมนูญสุขภาพที่บูรณาการเข้ากับวิถีทางศาสนา มีแหล่งเรียนรู้ มีแปลงนาสาธิต หลายเรื่องเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นหยิบไปประยุกต์ใช้
 
ทั้งนี้ทั้งนั้น เบื้องหลังมาจากการรู้จักประยุกต์ใช้วิถีเชิงวัฒนธรรมง่ายๆ ที่เรียกว่า “นูหรี” มาเป็นเครื่องมือนั่นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น