ผลวิจัยชี้ ผู้โดยสารรถไฟ 3 ใน 4 เห็นด้วยควรห้ามดื่มบนขบวนรถไฟเด็ดขาด ขณะที่ข้อมูล ร.ฟ.ท. เผยมีคดีวิวาทบนรถไฟ 505 คดี มีคนเสียชีวิตถึง 56 ราย แต่ละปีมีคดีที่ระบุชัดว่าเกี่ยวข้องกับการดื่มนับสิบ ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคดีมีให้เห็นจนชินตา ด้านเครือข่ายองค์กรงดเหล้าหวังดันกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มบนรถไฟสำเร็จก่อนปีใหม่ ขณะ “องค์กรสตรี” เชียร์นายกฯคนใหม่ปฏิรูประบบบริการขนส่งทุกประเภท สร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสารโดยเฉพาะเด็กและสตรี
วันนี้ (27 ส.ค.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนา “ทำอย่างไรผู้โดยสารรถไฟอุ่นใจเต็มร้อย?” จัดโดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร.ต.ท.หญิง นวลตา อาภาคัพภะกุล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยผลงานวิจัย “การจำหน่ายและการบริโภคแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟฟรีและรถไฟที่ต้องจ่ายค่าเดินทางปกติ ในเส้นทางสายใต้และสายตะวันออกเฉียงเหนือ” เก็บข้อมูลผู้โดยสาร 453 ราย และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องของการรถไฟ ตำรวจ ผู้ค้าเร่ ผู้จำหน่ายในตู้เสบียง และผู้จำหน่ายที่สถานีรถไฟ/ชานชลา รวม 53 ราย ระหว่างเดือน ส.ค. 2556 - พ.ค. 2557 พบว่า ผู้โดยสารรถไฟฟรีและผู้โดยสารรถไฟที่ต้องจ่ายค่าเดินทางปกติเกือบ 80% ระบุตรงกันว่า เคยเห็นการจำหน่ายสุราที่สถานีรถไฟ ส่วนที่ตู้เสบียงจำหน่ายตั้งแต่รถไฟออกจากต้นทางจนถึง 23.00 น. ราคาจำหน่ายที่ตู้เสบียงจะสูงกว่าราคาปกติประมาณ 1 เท่า นอกจากนั้นยังมีผู้เร่ขายขึ้นรถมาขายระหว่างทางอีกด้วย
“กลุ่มตัวอย่าง 75.4% เห็นด้วยว่าควรห้ามดื่มสุราบนขบวนรถไฟโดยเด็ดขาด และ 74.2% คิดว่าควรมีบทลงโทษผู้ดื่มสุราบนขบวนรถไฟเช่นเดียวกับกฎหมายห้ามดื่มบนรถยนต์” ร.ต.ท.หญิง นวลตา กล่าว และชี้ให้เห็นว่า “ข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า ปี 2552 - 2556 มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกรถไฟ ทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกาย และเสียชีวิต ที่เกิดกับผู้โดยสาร/พนักงานที่สถานีและบนขบวนรถมากถึง 505 ราย หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5 ราย และมีผู้เสียชีวิต 56 ราย หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ราย ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคดี ไม่มีการบันทึก มีให้เห็นจนชินตาและในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ สำหรับคดีที่ระบุชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ ข้อมูลสถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ปี 2552 - 2555 ระบุว่า มีมากถึง 46 ราย เฉลี่ยปีละ 15.3 ราย หรือ 1.3 รายต่อเดือน”
ร.ต.ท.หญิง นวลตา มีข้อเสนอให้ 1. ทบทวนข้อกฎหมาย การรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องพิจารณาให้เป็นแนวทางเดียวกันว่า พื้นที่ห้ามขายห้ามดื่มต้องนับรวมพื้นที่ของการรถไฟฯด้วย 2. ระหว่างยังไม่มีกฎหมายห้ามขอให้กรมสรรพสามิตทบทวนประกาศการออกใบอนุญาตทั้ง 7 ประเภท รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้จำหน่าย สถานที่ และปริมาณการจำหน่าย 3. ทบทวนระเบียบปฏิบัติของตำรวจให้ขยายอำนาจการสอบสวนและจับกุมครอบคลุมเหตุการณ์บนรถไฟ นอกจากนั้นควรเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร โดยทำระบบประตูปิดอัตโนมัติให้ขบวนรถไฟทั้งหมด พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยไม่ให้คลาดเคลื่อน และขยายการรณรงค์ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบทางรถยนต์ รถไฟ เรือ และทางอากาศ
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า การเพิ่มขบวนรถไฟ “เลดี้โบกี้” ที่เปิดให้บริการเฉพาะผู้โดยสารสุภาพสตรีและเด็กหญิง ถือว่ายังมีช่องโหว่ที่ไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะความปลอดภัยของผู้โดยสารควรต้องมีตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะตู้นอนเวลาเดินทางไปต่างจังหวัดเท่านั้น เนื่องจากปัญหาการคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้ทุกจุด สุดท้ายแล้วความหวาดระแวงไม่ปลอดภัยของผู้โดยสารก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อปี 2544 ก็เคยมีกรณีนักศึกษาสาวปริญญาโทถูกล่วงละเมิดทางเพศบนรถไฟ หลังจากนั้นก็มีขบวนเลดี้โบกี้อยู่ระยะหนึ่ง ผ่านมา 13 ปี เธอยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ คดีนี้การรถไฟฯไม่ควรอุทธรณ์ แต่ควรชดใช้ตามที่ผู้เสียหายร้องขอ นอกจากนี้ สิ่งที่ควรปรับปรุงคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟต้องทำงานอย่างจริงจัง ตรวจตราระหว่างเดินทางตลอดเวลา 24 ชั่วโมง และครอบคลุมทุกโบกี้ หากเกิดปัญหาจะได้ช่วยเหลือผู้โดยสารทันท่วงที หรือกรณีผู้โดยสารเมาขาดสติ ไม่ควรไล่ลงจากรถไฟอย่างเดียว แต่ควรมีหน่วยงานประสานส่งต่อแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน และมีหน่วยงานรับแจ้งเหตุในกรณีที่เกิดปัญหาต่อผู้โดยสารหญิง รวมถึงพัฒนาบุคลากรของพนักงานรถไฟ เช่น รณรงค์ให้หันมาลดละเลิกการดื่มสุรา บุหรี่ หากเป็นไปได้ควรนำเอานโยบายสถานีสีขาวของ ขสมก. มาปรับใช้
“การสร้างความอุ่นใจปลอดภัยกับผู้โดยสารถือเป็นสิ่งสำคัญที่การรถไฟฯต้องเร่งทำ และขอฝากถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ควรปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะทั้งระบบ จัดระบบระเบียบบริการ รณรงค์ให้เคารพสิทธิผู้หญิง เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาชี้ชัดว่า การก่ออาชญากรรม ข่มขื่น เกิดขึ้นกับรถโดยสารในระบบขนส่งทุกประเภท ดังนั้นหากนายกรัฐมนตรีคนใหม่นำเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี เพราะเป็นประเด็นที่ผู้หญิงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” นาย จะเด็จ กล่าว
ด้าน เภสัชกร สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและสถานีรถไฟ โดยร่างกฎหมายนี้จะเป็นประกาศจากสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการกําหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. .… ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“คาดว่ากฎหมายจะบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ น่าจะทันปีใหม่นี้ เพื่อรักษาชีวิตความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะการขายและดื่มสุราบนรถไฟเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบโดยตรงแทบทุกด้าน เชื่อว่าความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ละเมิดทางเพศ เสียงดังรบกวนสร้างความรำคาญบนรถไฟจะน้อยลง ซึ่งผู้โดยสารเกือบทั้งหมดต่างเห็นด้วยหากมีกฎหมายนี้ออกมา” เภสัชกร สงกรานต์ กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่