บุรีรัมย์ - กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ บุกแจ้งความเอาผิดบริษัทปุ๋ยฐานฉ้อโกง ปชช. หลังหลอกให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเซ็นรับปุ๋ยฟรี ในโครงการส่งเสริมอาชีพคนบุรีรัมย์ อ้างผ่านการอนุมัติงบเงินงบฯ จากจังหวัด และ อบจ.บุรีรัมย์ แล้ว แต่สุดท้ายบริษัทกลับยื่นฟ้องเรียกเก็บค่าปุ๋ย ขณะ อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งทนายสู้คดีช่วยเกษตรกร เผยทั้งโครงการรวมกว่า 200 ล้าน
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประธาน และคณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ทั้ง 14 กลุ่มและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ กว่า 30 คน ได้นำรายชื่อ และเอกสารการจัดตั้งกลุ่มเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โนนสุวรรณ เพื่อเอาผิดต่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีสิงห์ทวีโชค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขายปุ๋ย ฐานฉ้อโกงประชาชน
โดยกล่าวหาว่า ทางบริษัทขายปุ๋ยดังกล่าวได้หลอกให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ลงชื่อในใบสั่งซื้อและรับสินค้าเพื่อรับปุ๋ยอินทรีย์ฟรีในโครงการส่งเสริมอาชีพคนบุรีรัมย์ ปี 2558 โดยอ้างว่าโครงการดังกล่าวได้ผ่านการอนุมัติเงินงบประมาณจากทางจังหวัดบุรีรัมย์ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์แล้ว ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหลงเชื่อ และเข้าใจว่าเป็นโครงการต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2555-2558 ที่เคยได้รับแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์ฟรีมาแล้ว 3 ปีไม่เคยเกิดปัญหาอะไร
ทำให้กลุ่มเกษตรกรหลงเชื่อยอมเซ็นรับปุ๋ยกับทางบริษัทโดยที่ไม่ได้เอะใจว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านการอนุมัติงบประมาณจากทาง อบจ. ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้สั่งชะลอโครงการดังกล่าว เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ทางบริษัท หรือเจ้าหน้าที่บางคนที่ทราบว่าโครงการดังกล่าวถูกชะลอแต่ไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้เกษตรกรทราบ
จนทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรถูกฟ้องเรียกเก็บค่าปุ๋ยแล้ว 3 อำเภอ คือ อ.หนองหงส์ โนนสุวรรณ และ อ.พลับพลาชัย รวมเป็นเงินกว่า 48 ล้านบาท จากที่ทั้งจังหวัดมีกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรรับปุ๋ยในโครงการทั้ง 23 อำเภอ 337 กลุ่ม คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท คาดว่าอำเภอต่างๆ ทยอยถูกฟ้องเช่นกัน
นายธนากร จีนกลาง ประธานกลุ่มวิสาหกิจฐานเกษตรกรยางพารา กล่าวว่า ที่มาวันนี้เพื่อมาแจ้งความเอาผิดต่อทางบริษัทปุ๋ยฐานฉ้อโกง และปกปิดความจริง ทั้งนี้ เพื่อจะนำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นแถลงต่อศาลเพื่อขอยืดอายุความออกไปอีก เนื่องจากศาลได้นัดพิจารณาคดีในวันที่ 22 สิงหาคมที่จะถึงนี้ และจะสิ้นสุดอายุความในวันที่ 11 กันยายน
โดยเบื้องต้น ได้แจ้งเอาผิดต่อบริษัทปุ๋ย แต่จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนรู้เห็นหรือไม่อย่างไรต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะทำการสืบสวนสอบสวนเพื่อเอาผิด และรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น เพราะเกษตรกรเองไม่ทราบว่าโครงการจะผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งการเซ็นเอกสารก็เซ็นที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และมีเจ้าหน้าที่รับรู้ด้วย เพราะ จนท.ต้องนำหลักฐานการเซ็นของเกษตรกรไปเบิกเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าว แต่สุดท้ายทางบริษัทกลับมาฟ้องเกษตรกร ซึ่งมองว่าไม่เป็นธรรม และเป็นการปัดความรับผิดชอบ
ด้าน นางหนูแดง ทองใบ อายุ 44 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทรัพย์สมบูรณ์ บอกว่าสาเหตุที่ยอมเซ็นชื่อในใบรับสินค้าเพราะความไว้เนื้อเชื่อใจหน่วยงานรัฐ หรือทางเกษตรอำเภอ
ที่บอกว่าเป็นการเซ็นรับปุ๋ยฟรีในโครงการส่งเสริมอาชีพคนบุรีรัมย์ โดยที่เกษตรกรไม่ทราบข้อเท็จจริงหรอกว่าโครงการจะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เมื่อมีเจ้าหน้าที่รัฐมาบอกว่าเป็นโครงการปุ๋ยฟรีจึงเซ็น ทั้งที่เกษตรกรไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ปุ๋ยปริมาณมากขนาดนั้น เพราะเมื่อก่อนอาศัยเงินจากการรับจ้างมาซื้อปุ๋ยในการทำนาข้าว ซึ่งหากรู้ว่าการเซ็นรับปุ๋ยฟรีจากโครงการรัฐแล้วจะถูกฟ้องร้องคงไม่มีใครอยากได้ปุ๋ย
ทางด้านพนักงานสอบสวนหลังรับแจ้งจะเรียกเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องที่ผู้แจ้งอ้างถึงมาสอบปากคำตามขั้นตอน หากพบว่ามีมูลในการฉ้อโกงหลอกลวงตามที่เกษตรกรแจ้งความจริง จะสรุปสำนวนส่งอัยการตามขั้นตอน โดยยืนยันจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ขณะที่ทาง อบจ.ก็ตั้งทนายเพื่อสู้คดีเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรแล้ว