xs
xsm
sm
md
lg

หนีคดีไปแล้วยังฟ้องคนอื่นได้อีก

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ทันทีที่ได้ยินพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอ โดยสาระสำคัญเพื่อไม่ต้องการให้จำเลยที่หนีคดีในระหว่างคดีอยู่ในชั้นศาล สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งจำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ต่อเมื่อแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล หากไม่แสดงตนศาลจะไม่รับพิจารณาอุทธรณ์ หรือฎีกา

จากเดิมมาตรา 182 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า กรณีใดที่ศาลออกหมายจับแล้ว ไม่ได้ตัวจำเลยมาภายใน 1 เดือน ให้ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ และถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาแล้ว ซึ่งจำเลยก็จะสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ โดยให้ทนายของตนเป็นผู้รับมอบอำนาจมายื่น

หลายคนเหมือนจะเฮลั่นคล้ายกับเข้าใจว่าต่อไปนี้ทักษิณจะมาตั้งทนายฟ้องใครต่อใครไม่ได้อีก

แต่พออ่านดีๆ เขาจะแก้กฎหมายแค่ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาที่หนีคดีในคดีนั้นเมื่อศาลตัดสินจำคุกแล้วก็ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้อีก แต่สิทธิในการฟ้องคนอื่นเป็นคดีอื่นต่อศาลเหมือนที่ทักษิณเซ็นมอบอำนาจอยู่ยังทำได้เหมือนเดิม

ส่วนคดีของทักษิณที่ติดคุกในคดีใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่คู่สมรสในการซื้อที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นข้อต้องห้ามตามมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้น เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎหมายขณะนั้นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาอยู่แล้ว

แล้วคนหนีศาลทำไมจึงมาฟ้องคนอื่นในศาลได้อีก???

นั่นเป็นคำถามว่าทำไมคนอย่างทักษิณที่ทั้งดูหมิ่นศาล ไม่ยอมรับการพิจารณาคดีของศาล ทนายหิ้วถุงเงินแกล้งไปทิ้งไว้บนศาล จึงยังสามารถใช้ศาลไทยที่ตัวเองไม่ยอมรับฟ้องร้องกล่าวหาคนอื่นได้ แล้วศาลก็รับเป็นคดีด้วย

พอฟังข่าวที่โฆษกไก่อูแถลงแล้วผมก็ตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ครอบคลุมไปถึงทุกคดีรวมถึงกรณีแบบทักษิณด้วย ยกหูไปคุยกับเพื่อนผู้พิพากษาคนหนึ่ง ก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ถ้าแก้กฎหมายวิอาญาน่าจะครอบคลุมถึงคนที่หนีคดีห้ามมาฟ้องศาลในทุกคดี ไม่ใช่แค่คดีที่หนีไป

แล้วรู้ไหมครับว่า คนหนีคดีหลายคนอาจเข้าใจผิดๆ ว่าถ้าถูกจับตัวมาได้อาจมีความผิดเพิ่มในข้อหาหนีศาลนั้น จริงๆ ไม่มีความผิดเพิ่มเลยนะครับ อย่างเก่งก็ริบเงินประกันเพราะถือว่าทำผิดสัญญาประกัน ถือเป็นความผิดสัญญาระหว่างนายประกันกับศาล แต่ถ้าภายหลังนายประกันนำตัวจำเลยกลับมาได้เงินประกันก็ยังได้คืนอีก

ฟังแล้วก็จะงงนะครับว่าทำไมไม่มีความผิดเพิ่ม ยิ่งไปดูกฎหมายอาญามาตรา 190 ที่ว่า ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วจะยิ่งงง

แต่มาตรา 190 กับการไม่มาฟังคำพิพากษาแล้วถูกพิจารณาคดีลับหลังเป็นคนละเรื่องกันนะครับ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ว่า จะผิดตามมาตรา 190 นี้ต้องมีการจับ ถ้าไม่มีการจับก็ไม่มีการหลบหนีตามมาตรานี้ คือต้องถูกควบคุมตัวอยู่แล้วหลบหนี แต่คนที่หนีฟังคำพิพากษานั้นยังไม่มีการจับยังไม่ถูกควบคุมตัวไงครับ เป็นดุลพินิจของศาลที่ให้ประกันตัวไประหว่างคดี คนผิดสัญญาคือนายประกันคนเดียว

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งถูกทักษิณเซ็นมอบอำนาจให้มาฟ้องหลายคดีให้ความเห็นว่า การที่ให้สิทธินักโทษหนีคดีมาตั้งทนายฟ้องศาลได้นั้น มันไม่เป็นธรรมต่อจำเลย เพราะตัดสิทธิที่จำเลยจะเรียกโจทก์มาเป็นพยานต่อศาล ทั้งๆ ที่ควรทำได้แม้จะมอบอำนาจให้ทนายมาฟ้องแทนแล้วก็ตาม

ผมเองเคยตั้งคำถามด้วยความฉงนใจมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงเคยเจอภาษิตละตินประโยคคนหนึ่งซึ่งมีคำแปลภาษาไทยกำกับไว้ด้วย ผมพิจารณาดูแล้วว่าภาษิตบทนี้น่าจะใกล้เคียงกับสถานะของทักษิณ แต่ก็ไม่มั่นใจอยู่ดีว่าความรู้งูๆ ปลาๆ ของผมนั้นจะถูกหรือผิด กระทั่งผมได้โพสต์ไปถามเพื่อนคนหนึ่งในวงการตุลาการก็ยืนยันได้ว่า ความคิดของผมน่าจะถูกต้อง แต่ก็ยังไม่มีคำอธิบายอะไรที่แจ่มชัดนัก

ภาษิตบทนั้นเขียนเป็นภาษาละตินว่า Extra legend positus est civiliter mortuus

จากนั้นผมได้โพสต์ไปในเพจ Kittisak Prokati ของ รศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า อาจารย์ครับขอความรู้ภาษิตกฎหมายนี้หมายความว่าอะไร เข้ากับทักษิณที่หนีคดีหรือไม่ ถ้าใช่ทักษิณควรมีสิทธิแต่งตั้งตัวแทนมาฟ้องคนอื่นในศาลได้หรือไม่

อาจารย์กิตติศักดิ์ ตอบคำถามไว้น่าสนใจดังนี้
...

การที่คุณทักษิณไม่ยอมรับโทษตามคำพิพากษา และปฏิเสธว่าตนไม่ผิดตามคำตัดสินก็แสดงอยู่แล้วว่าไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาล ดังนั้น จะมาพึ่งศาลในการฟ้องคนอื่นเป็นจำเลยก็เป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต และทำให้ระบบกฎหมายและศาลไม่อาจรับรองให้ใช้สิทธิเช่นนั้นได้เท่านั้นเองครับ ส่วนเรื่อง extra legem เป็นกรณีคล้ายกัน แปลว่า ผู้อยู่นอกกฎหมาย ปกติย่อมถือว่าถึงแก่ความตายทางแพ่ง ลองคิดดูง่ายๆ ว่า คนร้ายฆ่าคนตาย ถูกศาลตัดสินประหาร แล้วฆ่าเจ้าหน้าที่หลบหนีไปต่างประเทศ นักข่าวรายงานไปในทางเลวร้าย คนร้ายเลยตั้งทนายมาฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดทำให้เสียทางทำมาหาได้ ศาลควรรอการพิจารณาไว้จนกว่าโจทก์จะยอมรับอำนาจศาลหรือไม่? หรือถ้าคุณบิน ลาดิน จะแต่งทนายมาฟ้องประธานาธิบดีบุช หรือหนังสือพิมพ์อเมริกันว่าหมิ่นประมาท ศาลอเมริกันควรจะว่าอย่างไร?
...

ผมเลยเห็นว่า ถ้าครม.ซึ่งปัจจุบันมีอำนาจเด็ดขาดแล้วจะแก้ไขก็ควรแก้ให้ครอบคลุมคนที่หนีคดีไม่ยอมรับอำนาจศาลแล้วก็ไม่ควรมาใช้ศาลฟ้องใครต่อใครได้อีก นี่น่าจะเป็นหลักการพื้นๆ ของกระบวนการยุติธรรม ถ้าจะใช้ศาลก็ต้องยอมรับในอำนาจศาลนั้นเสียก่อนคือต้องยอมรับกฎกติกาเดียวกัน ถ้าอยู่บนสังคมเดียวกัน

ถ้าปล่อยให้ทำแบบที่ทักษิณทำได้อยู่คนที่มีเงินก็ได้เปรียบ แค่เอาเงินมาจ้างทนายแต่เซ็นมอบอำนาจกันที่ไหนก็ไม่รู้ เพราะถ้ารู้ก็อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 192 อาจเข้าข่ายให้ที่พำนัก ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดอีก แต่ทักษิณก็แปลกคือ เป็นคนหนีคดีคนเดียวที่ยังปรากฏตัวไปไหนมาไหนให้เห็น ราวกับว่ากฎหมายไม่มีหูมีตาหรือเอื้อมไปแตะทักษิณไม่ได้คิดดูสิครับนอกจากกฎหมายประเทศไทยทำอะไรทักษิณไม่ได้แล้ว วันดีคืนดีถ้าท่านรัฏฐาธิปัตย์ไปพูดจาอะไรให้ทักษิณเสียหาย ก็อาจตั้งทนายมาฟ้องท่านรัฏฐาธิปัตย์ในนามบุคคลฐานหมิ่นประมาทได้อีก

ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วแก้กฎหมายให้คนที่หนีศาลไม่มีสิทธิมาฟ้องใครอีกจนกว่าจะกลับตัวมารับโทษตามกฎหมายเสียก่อนดีไหมครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น