xs
xsm
sm
md
lg

มาได้ไง...กรมโรงงานฯ ส่งกากอิเล็กทรอนิกส์อันตรายกว่า 190 ตันกลับญี่ปุ่น พบนำเข้าผิดกฎหมาย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานส่งกากอุตฯกลับญี่ปุ่น
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมโรงงานฯ เตรียมส่งกากอิเล็กทรอนิกส์อันตรายกว่า 190 ตัน กลับประเทศญี่ปุ่น หลังตรวจพบเอกชนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย โดยเป็นครั้งแรกในประเทศที่ส่งกลับ หลังมีข้อตกลงร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ และเป็นไปตามอนุสัญญาบาเซล



วันนี้ (28 ก.ค.) นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เป็นประธานในพิธีเตรียมส่งกากอันตรายอิเล็กทรอนิกส์ 190 ตัน ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า กลับประเทศญี่ปุ่น หลังตรวจพบเอกชนลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย พร้อมด้วย นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการศุลกากรแหลมฉบัง ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง เข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ ที่บริเวณโกดัง ซี 3 ท่าเรือแหลมฉบังอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

สืบเนื่องจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการตรวจสอบพบเรือขนส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบซากเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วทั้งสิ้น 7 ตู้ คอนเทนเนอร์ ปริมาณรวม 196.11 ตัน ซึ่งกากอันตรายดังกล่าวจัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล อีกทั้งยังเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ใดนำเข้าจะต้องได้รับการอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะดำเนินการส่งของเสียอันตรายทั้งหมดกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 และคาดว่าจะถึงประเทศต้นทางในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หลังจากนั้น กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ส่งออกต่อไป

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับแจ้งจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น ให้เฝ้าระวัง และตรวจสอบสินค้าที่จะมีการนำเข้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เข้าข่ายการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวมายังประเทศไทย

โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 8 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีต้นทางจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ (metal scrap) เศษทองแดง (copper scrap) และเศษอะลูมิเนียม (alumiunm scrap) โดยจากการตรวจสอบสินค้าจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตรงตามสำแดง แต่ตู้คอนเทนเนอร์อีกจำนวน 7 ตู้ที่เหลือ ตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว ซึ่งมีปริมาณรวม 196.11 ตัน

สำหรับซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วดังกล่าวจัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยการนำเข้าดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกรณีดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้ามีความผิดฐานสำแดงสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการประสานไปยังกรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และเอกชนที่เกี่ยวข้องต่อกรณีนี้เพื่อยุติปัญหา และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้นำเข้า ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการส่งสินค้าดังกล่าวกลับต้นทาง โดยประเทศญี่ปุ่นได้ตอบรับและยินยอมให้ส่งของเสียทั้งหมด

ด้าน นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจัดส่งของเสียอันตรายทั้งหมดกลับไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซล ที่มีภาคีสมาชิก 183 ประเทศ และยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มีเจตนารมณ์ในการยุติปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ และแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยในการป้องกันลักลอบนำเข้าของเสียที่เป็นอันตรายเข้ามาทิ้งภายในประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

อีกทั้งยังเป็นการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญในการดำเนินตามพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ในการร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อยุติปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ และเป็นไปการอนุวัติให้เป็นไปตามข้อตกลงของอนุสัญญาบาเซล ตลอดจนเพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารกากของเสียของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานการจัดการกากของเสียสากล
ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการดำเนินการครั้งนี้
เป็นกากขยะอุตสาหกรรม ที่ไม่มีคุณค่า จึงต้องส่งกลับประเทศต้นทาง
มีการลักลอบนำเข้า 7 ตู้คอนเทนเนอร์ หนักกว่า 190 ตัน
กำลังโหลดความคิดเห็น