xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯ เผยญี่ปุ่นลักลอบส่งกากขยะอันตรายกว่า 190 ตันเข้าไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
“กรมโรงงานอุตสาหกรรม” เร่งนำส่งกากอันตราย หลังการเข้าตรวจสอบเรือขนส่งสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น ตรวจพบซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว จำนวน 7 ตู้คอนเทนเนอร์ ปริมาณรวม 196.11 ตัน ชี้เป็นกากอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล ส่งไม้ต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่นดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ส่งออกต่อไป
นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

นายศักดา พันธ์กล้า รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงพิธีรับมอบของเสียอันตรายกลับประเทศญี่ปุ่นว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้รับแจ้งจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น ให้เฝ้าระวังและตรวจสอบสินค้าที่จะมีการนำเข้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าที่เข้าข่ายการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดน กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมศุลกากรเพื่อเฝ้าระวังการนำเข้าสินค้าประเภทดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 8 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีต้นทางจากประเทศญี่ปุ่น สินค้าสำแดงเป็นเศษโลหะ (metal scrap) เศษทองแดง (copper scrap) และเศษอะลูมิเนียม (aluminum scrap) จากการตรวจสอบสินค้าจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องตรงตามสำแดง แต่ตู้คอนเทนเนอร์อีกจำนวน 7 ตู้ที่เหลือตรวจพบเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วซึ่งมีปริมาณรวม 196.11 ตัน

ทั้งนี้ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วดังกล่าวจัดเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกรณีดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้ามีความผิดตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 รวมถึงมีความผิดฐานสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ดำเนินการประสานไปยังกรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เพื่อยุติปัญหาและได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้นำเข้า ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขอคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการส่งสินค้าดังกล่าวกลับต้นทาง โดยประเทศญี่ปุ่นได้ตอบรับและยินยอมให้ส่งของเสียทั้งหมดกลับคืนต้นทาง

ด้าน นายสมคิด วงศ์ไชยสุวรรณ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้จัดพิธีเตรียมการจัดส่งของเสียอันตรายทั้งหมด โดยของเสียดังกล่าวจะถูกส่งกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นมีกำหนดเดินทางในวันนี้ (29 กรกฎาคม) คาดว่าจะถึงประเทศต้นทางในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 หลังจากนั้นกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่นจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ส่งออกต่อไป อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการส่งกลับสินค้าที่เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล นอกจากจะเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของอนุสัญญาบาเซลแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีเจตนารมณ์ในการยุติปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศ และแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาลไทยในการป้องกันการลักลอบนำเข้าของเสียที่เป็นอันตรายเข้ามาทิ้งภายในประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

อนุสัญญาบาเซล คือ?
อนุสัญญาบาเซล เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and their Disposal) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายระหว่างประเทศให้มีการบริหารจัดการของเสียอันตราย ซึ่งรวมถึงการดำเนินการกำจัด (Disposal) และการดำเนินการเพื่อหมุนเวียนนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ (Recycle/Recovery/Reclamation) โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันอนุสัญญาบาเซลมีภาคี 183 ประเทศ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีสมาชิกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น