น่าน - จังหวัดน่านใช้มิติการศึกษาแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น มอบทุน “คนน่านไม่ทิ้งกัน” แก่ลูกหลานเกษตรกร เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนให้เรียนฟรีระดับปริญญาตรีที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) หวังส่งเสริมให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด
นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า จังหวัดน่านได้ริเริ่มทุนการศึกษา “คนน่านไม่ทิ้งกัน” ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกรในครอบครัวที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดน่าน เพื่อส่งเสริมให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด โดยมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัดเป็นผู้ให้การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปีพร้อมที่พักและค่าครองชีพ ที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ปีละ 10 ทุน
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและจังหวัดน่าน การให้ทุนการศึกษาในวันนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับกรอบการทำงานเพื่อบูรณาการจังหวัดน่านในการแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น โดยใช้มิติการศึกษาเข้ามาพัฒนาไปพร้อมๆ กับนโยบาย 2 ปี 4 ขับเคลื่อนใน 4 มิติหลัก เพื่อพัฒนาจังหวัดน่านตามความต้องการของประชาชนชาวน่าน ได้แก่ มิติน้ำ มิติป่า มิติเกษตร/พาณิชย์/พอเพียง และมิติท่องเที่ยว” ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าวเสริมว่า “การให้โอกาสลูกหลานเกษตรกร จังหวัดน่าน ได้รับการศึกษาในระดับสูงในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น การบริหารจัดการน้ำ อุตสาหกรรมการเกษตร วิทยาศาสตร์การเกษตร เศรษฐศาสตร์การเกษตร เป็นการขับเคลื่อนในการแก้ปัญหามิติป่า เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้กลับเข้าไปเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดน่าน มากกว่าจะเป็นลูกจ้าง หรือขายแรงงาน หรือปลูกข้าวโพดบนที่สูงชัน โดยเยาวชนเหล่านี้จะเป็นเยาวชนต้นแบบของจังหวัดน่านต่อไป”
ด้านนายมนตรี คงตระกูลเทียน คณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) กล่าวเสริมว่า “ทุนการศึกษาคนน่านไม่ทิ้งกันที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์มอบให้แก่ลูกหลานเกษตรกรจังหวัดน่าน จะช่วยสนับสนุนการสร้างคนที่มีคุณภาพ และกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความสำนึกรักในถิ่นฐานบ้านเกิด พร้อมนำเอาความรู้และความสามารถ กลับไปช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนจังหวัดน่าน”
“ทุนการศึกษาคนน่านไม่ทิ้งกัน เป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยเยาวชนผู้ได้รับทุนจะได้เรียนรู้วิชาการเกษตร เทคโนโลยี การจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จริยธรรมในการทำธุรกิจ พร้อมฝึกปฏิบัติงานจริงภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Work based Learning เพื่อผลิตเยาวชนที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน”
“ผู้ได้รับทุนจะได้รับการถ่ายทอดเรื่องนวัตกรรมด้านพืชหลากชนิด ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพในด้านการตลาด การเรียนรู้การผลิตในฟาร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อนำความรู้กลับไปช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตด้านการเกษตรของ จ.น่าน ต่อไปในอนาคต” นายมนตรีกล่าว
ขณะที่ นายชุณเทพ ดีพรมกุล หรือ “เติ้ล” จากโรงเรียนสตรีศรีน่าน จ.น่าน กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ส่วนตัวมีความชอบด้านการเกษตรอยู่แล้ว อยากเรียนด้านการเกษตร เพื่อนำเทคโลยีใหม่ๆ กลับมาช่วยเหลือจังหวัดน่าน ตามวัตถุประสงค์ของทุนคนน่านไม่ทิ้งกัน ”
ด้าน นางฉัตรปวีณ์ ดีพรมกุล มารดาของนายชุณหเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีลูก 2 คน คือน้องเติ้ลเป็นคนโต เป็นเด็กเรียนดี ได้เกรดเฉลี่ย 3.09 รู้สึกดีใจที่ลูกได้รับทุนคนน่านไม่ทิ้งกัน เป็นทุนที่ไปเรียนด้านการเกษตร ซึ่งตรงกับที่ลูกชายชอบพอดี ครอบครัวอาศัยอยู่อำเภอภูเพียง มีที่ดินทำกิน 15 ไร่ เดิมปลูกข้าวโพด แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นยางพารา เพราะให้รายได้ดีกว่าข้าวโพด อนาคตยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่มั่นใจว่าลูกชายจะทำให้จังหวัดน่านเปลี่ยนแปลงได้ เขาต้องกลับมาพัฒนาบ้านเกิด แก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น”
ส่วน น.ส.นิตยา บุญเป็ง หรือ “ป๊อป” สาวน้อยวัย 18 ปี จากโรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จ.น่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำ จ.น่าน เดินทางมารับทุนคนน่านไม่ทิ้งกันพร้อมกับนางเลียบ บุญเป็ง มารดา
นางเลียบ บุญเป็ง น้ำตาคลอเบ้าด้วยความปลื้มใจ เปิดเผยความรู้สึกว่า “รู้สึกดีใจมากที่ลูกสาวได้ทุน ก็ไม่ได้หวังอะไรมากไปว่าไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตนเอง สิ่งเดียวที่สามารถช่วยให้เขาหลุดพ้นจากคำว่าลำบากได้นั้น คือ การสนับสนุนให้เขามีความรู้ มีการศึกษา ขอให้ลูกตั้งใจเรียน จะเฝ้ารออนาคตที่ลูกสำเร็จการศึกษากลับมาน่านบ้านเกิดเมืองนอน”
ในขณะที่ น.ส.นิตยา กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “ช่วยพ่อแม่ปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ทำเป็นหมดทุกขั้นทุกตอน เห็นพ่อแม่ทำมาหากินอย่างลำบาก ไม่ต้องการให้พ่อแม่ลำบากเลย วันนี้ได้รับทุนคนน่านไม่ทิ้งกัน รู้สึกดีใจมาก เพราะจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวและจะกลับมาช่วยครอบครัว และช่วยพัฒนาจังหวัดน่าน
“มีความสนใจที่จะเรียนเกษตรมาตั้งนานแล้ว ต้องการให้พ่อแม่ลืมตาอ้าปากได้จากการทำเกษตร จึงเลือกสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะเกษตร ซึ่งก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้แล้วในคณะที่ต้องการ แต่เมื่อทราบว่าจังหวัดน่านมีทุน คนน่านไม่ทิ้งกัน ให้เรียนที่คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรที่สถาบันการจัดการ ปัญญาภิวัฒน์ ก็สนใจเพราะทราบว่าเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติจริง ซึ่งตรงตามที่ใจต้องการ จึงตัดสินใจมาสอบเพื่อขอรับทุนนี้ และรู้สึกดีใจมากเมื่อทราบผลว่าตนเองได้รับทุนนี้"
น้องป๊อปกล่าวอีกว่า ปัจจุบันครอบครัวเรามีที่ดินทำกินอยู่ 21 ไร่ ก่อนหน้านี้ปลูกแต่ข้าวโพด ต่อมาพ่อได้ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเริ่มปรับเปลี่ยน ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวคือข้าวโพด มีการปลูกยางพาราซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้กรีด และยังปลูกเงาะ ส้มโอ มะม่วง ครอบครัวพยายามที่จะเลิกปลูกข้าวโพด เมื่อเห็นสภาพภูเขาหัวโล้นแล้วก็รู้สึกใจหาย คงปลูกข้าวโพดต่อไปไม่ได้แล้ว พ่อจึงเริ่มปลูกพืชอื่นทดแทน แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถเลิกปลูกข้าวโพดได้ในทันที เพราะยังมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆในครอบครัวอีกมาก
นอกจากนี้ยังมีครอบครัวชาวม้งอย่าง “น้องชัย” นายชัยชนะ แซ่โซ้ง จากโรงเรียนน่านประชาอุทิศ จังหวัดน่าน มารับทุนคนน่านไม่ทิ้งกันพร้อมกับ นางหมี แซ่โซ้ง ผู้เป็นมารดา
นางหมี แซ่โซ้ง น้ำตาคลอเบ้าดีใจตลอดเวลาพูดคุยกัน กล่าวว่า “ดีใจจริงๆ ที่ลูกชายได้รับทุน เพราะครอบครัวรายได้น้อย ตนมีลูกถึง 9 คน ชัยชนะเป็นคนที่ 6 และยังมีน้องเล็กอีก 3 คน พอมีทุนคนน่านไม่ทิ้งกันเข้ามาก็ดีใจ ชัยชนะเขาชอบเรียนหนังสือ เขาจะได้เรียนจนถึงปริญญาตรี”
“อยากให้ลูกได้เรียนสูง ๆ ได้เรียนจนจบปริญญา จะตั้งใจรอวันที่ลูกเรียนจบกลับมา อยากเห็นอนาคตของลูกเพียงแค่ให้เขาดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องมาช่วยพ่อแม่หรอก”
“บ้านอยู่อำเภอสันติสุข ตอนนี้ยังปลูกข้าวโพด และมีลิ้นจี่ด้วย ยังไม่สามารถเลิกปลูกข้าวโพดได้เพราะมีลูกเล็กที่ยังต้องเรียนหนังสืออีก 2 คน และอีกคนก็พิการ ที่ดินบนดอยปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น กระหล่ำปลียังปลูกไม่ได้เลย ขิงก็ไม่ได้ปลูกเพราะปลูกแล้วรากเน่า ทดลองปลูกมาแล้วหลายอย่าง ในที่สุดก็กลับมาที่ข้าวโพด ภูเขาหัวโล้นเห็นแล้วก็เสียใจ แต่เราก็ไม่มีทางออก ได้แต่เลี้ยงวัว ปลูกข้าวโพด วัวตอนนี้ก็ขายหมดแล้วเอาเงินมาส่งลูกเรียน”
ส่วน ชัยชนะ กล่าวเสริมว่า “ขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายที่ทำให้เกิดทุนคนน่านไม่ทิ้งกัน ผมจะนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนกลับมาพัฒนาพื้นที่เกษตร ทุนนี้เมื่อได้รับก็รู้สึกเกิดแรงบันดาลใจ ทำให้มีกำลังใจ รู้สึกว่าไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว คนน่านไม่ทิ้งกันจริง”
อีกหนึ่งครอบครัวที่เดินทางมาจาก อ.เวียงสา “น้องโย” น.ส.โยธกา อุตตี จากโรงเรียนสา อ.เวียงสา จ.น่าน มากับนางเพ็ญ อุตตี มารดาน้องโย กล่าวว่า “มีความฝันว่าอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง เพราะอิสระ และน่าจะทำรายได้ดีกว่าการทำเกษตร ตอนนี้ครอบครัวเริ่มลดการปลูกข้าวโพด เริ่มมีการปลูกยางพาราขึ้นทดแทนบ้างแล้ววันนี้ได้รับทุนคนน่านไม่ทิ้งกัน ดีใจมาก เพราะจะได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่ จะขอใช้โอกาสตรงนี้ให้ดีที่สุด เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ และตั้งใจเรียน รวมทั้งจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับรุ่นน้อง เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า คนน่านไม่ทิ้งกันค่ะ”
ด้านคุณเพ็ญ อุตตี เล่าเสริมว่า “เคยคิดจะเลิกปลูกข้าวโพด แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะลูกยังต้องเรียนหนังสือ ตัวเราไม่มีความรู้ที่จะมาเปลี่ยนแปลง คิดว่าลูกจะสามารถทำให้เปลี่ยนแปลงได้ มีลูก 2 คน น้องโยเป็นคนเล็ก อยากให้ลูกมีธุรกิจของตัวเอง ไม่อยากให้ทำเกษตรเพราะมันทุกข์ ลงทุนเยอะ แต่ได้รายได้เป็นรายปี ไม่พอกิน ไม่พอใช้ ดีใจมากที่ลูกได้ทุน เพราะครอบครัวรายได้น้อย ได้เงินจากการขายผลผลิตเกษตรเป็นรายปี ปีละประมาณ 300,000 บาท หักกลบลบหนี้แล้วก็ลำบาก”
ทุนการศึกษาคนน่านไม่ทิ้งกัน...ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ที่จะส่งเสริมศักยภาพเยาวชนไทย เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนลูกหลานเกษตร จังหวัดน่าน อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมาพัฒนาสังคม ประเทศชาติในอนาคต