xs
xsm
sm
md
lg

“กรมศิลป์-เนคเทค” เปิดคลังข้อมูลประวัติศาสตร์ออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมศิลป์ - เนคเทค” สร้างสื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนเข้าถึงข้อมูล เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ

วันนี้ (11 ก.ค.) นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร แถลงข่าวโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ว่า กรมศิลปากร ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่ และเป็นระบบ e-Learning เพื่อการเรียนรู้ทางไกลแก่นักเรียน นักศึกษา ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและไวไฟ จะช่วยให้เข้าถึงข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากเอกสารจดหมายเหตุ ตลอดจนภารกิจการดำเนินงานของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติไปสู่สาธารณชน

นายศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กว่า 20 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้แก่กลุ่มหน่วยงานต่าง ๆ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจัดระบบการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ในการดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริโดยทรงเป็นองค์ประธานกรรมการโครงการด้วยพระองค์เอง และหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการภายใต้โครงการ คือ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้นให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกล ที่มักประสบปัญหาขาดแคลน ครูผู้สอน รวมถึงผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ อาทิ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยในโรงพยาบาล ฯลฯ

นายศิวรักษ์ กล่าวต่อว่า สวทช. จัดทำโครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกล เฉลิมพระเกียรติฯ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ โดยใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนของทุกระดับ ทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยมีกรอบแนวคิดที่สำคัญ คือ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลขนาดใหญ่ที่บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนจำนวนมาก และจัดทำคลังจัดเก็บทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด ซึ่งเป็นคลังข้อมูล หรือฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่ปลอดปัญหาลิขสิทธิ์ โดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูลที่เข้าร่วมโครงการ อนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะ และให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่หน่วยงานเจ้าของข้อมูลกำหนดตามสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ เช่น ให้อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลงหรือใช้เพื่อการค้า เป็นต้น

ด้าน น.ส.นัยนา แย้มสาขา ผู้อำนวยการสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกับ สวทช. ดังนี้ 1. การสำรวจ คัดเลือก และการจัดเตรียมข้อมูลจากเอกสารจดหมายเหตุประเภทภาพถ่าย เพื่อนำเข้าในคลังจัดเก็บทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด เพื่อเพิ่มเติมความรู้ในบทเรียนด้านประวัติศาสตร์ โดยเป็นการสนับสนุนการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้สนับสนุนภาพถ่ายเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ เหตุการณ์สำคัญ ที่ปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ในระยะแรก จำนวน 1,800 ภาพ สำหรับข้อมูลในส่วนนี้พร้อมเปิดให้บริการผ่านคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด หรือ OER ผ่านเว็บไซต์ http://oer.learn.in.th

2. การจัดทำบทเรียนออนไลน์และนำเข้าในคลังบทเรียนออนไลน์ นำเสนอเรื่องวิชาการจดหมายเหตุทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ตลอดจนการนำเสนอแบบสื่ออนิเมชัน ได้แก่ นำชมการดำเนินงานของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ นำชมการดำเนินงานของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กระบวนงานบริการเอกสารจดหมายเหตุ กระบวนงานซ่อมแซมเอกสารจดหมายเหตุ และการสแกนตำราวิชาการและคู่มือการปฏิบัติงานจดหมายเหตุในรูปหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น