xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉากขนย้ายเสือ “วัดป่าหลวงตาบัว” จ่อโดน ส.ป.ก.เพิกถอนที่ดินกว่า 300 ไร่ซ้ำ พบใช้ผิดประเภท (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - รองอธิบดีกรมอุทยานฯ นำทีมแถลงปิดฉากปฏิบัติการขนย้ายเสือโคร่งวัดป่าหลวงตาบัว ซ้ำจ่อโดน ส.ป.ก.เพิกถอนที่ดินกว่า 300 ไร่ เหตุพบใช้ผิดประเภท “หน.ฝ่ายสุขภาพสัตว์ฯ” ชี้พบเสือโคร่งเพศเมียของกลางน้ำนมไหล เชื่อคลอดลูกไม่นาน ต้องรอผลพิสูจน์ดีเอ็นเอเปรียบเทียบพ่อแม่เสือทั้ง 147 ตัว ด้าน “ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า” คาดใช้งบเลี้ยงดูปีละ 10 ล้านบาท เตรียมประสาน “กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด” บันทึกการขนย้ายเสือครั้งใหญ่เป็นสถิติของโลก



กรณีศาลจังหวัดกาญจนบุรี อนุมัติหมายค้น ที่ มค 432/2559 ให้แก่ผู้ร้องขอคือ นายสินชัย เอกทรัพย์สกุล เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการตรวจค้นวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน และมูลนิธิวัดป่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระสุทธิสารเถร เป็นเจ้าอาวาส และประธานมูลนิธิ และนายอธิธัช ศรีมณี

คณะเจ้าหน้าที่นำโดย นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายยรรยง เลขาวิจิตร ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายศิริ อัคคะอัคร ผอ.สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานฯ (ผอ.สปฟ.) นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผอ.ส่วนยุทธการป้องกันและปราบปราม กรมอุทยานฯ นายสุนทร ฉายวัฒนะ ผอ.ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า กรมอุทยานฯ นายชาญวิทย์ กันยา นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานฯ นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร หน.ฝ่ายสุขภาพสัตว์ กรมอุทยานฯ นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี นายชาติชาย ศรีแผ้ว หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ จากทั่วประเทศสนธิกำลังมาดำเนินการขนย้ายเสือโครง โดยทั้งหมดเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.ถึงวันที่ 3 มิ.ย.รวม 5 วันคณะเจ้าหน้าที่สามารถขนย้ายเสือของกลางได้ทั้งหมด 128 ตัว ยังคงเหลือเสือโคร่งอีก จำนวน 9 ตัว

ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.พล.ร.9 ได้มอบหมายให้ พ.อ.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผบ.ร.29 พ.อ.ฐนิตพัฒน์ อุทะนุตนันท์ รอง ผบ.ร.29 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดประสานงานประจำพื้นที่ ร.29 ร่วมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด ภ.จว.กาญจนบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคอยอำนวยความสะดวก โดยมี พ.ต.อ.บัณฑิต ม่วงสุขำ ผกก.สภ.ไทรโยค ร่วมกับนิติกรจากกรมอุทยานฯ คอยประสานงานเกี่ยวกับเรื่องคดี

ล่าสุด เมื่อเวลา 07.30 น.วันนี้ (4 มิ.ย.) นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร หน.ฝ่ายสุขภาพสัตว์ กรมอุทยานฯ นายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง นายวินันท์ วิระนะ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี นำทีมคณะสัตว์แพทย์เข้าไปดำเนินการวางยาสลบเสือโคร่งที่ยังคงเหลืออยู่ จำนวน 9 ตัว ซึ่งเสือ จำนวน 9 ตัว อยู่ในโซนชั้นในสุด ซึ่งนิสัยของเสือที่มีอยู่ค่อนข้างดุร้าย เนื่องจากทางวัดไม่เคยนำเสือจำนวนดังกล่าวออกมาให้นักท่องเที่ยวถ่ายภาพ เมื่อเสือพบเห็นผู้คนเป็นจำนวนมากต่างร้องคำราม และวิ่งไปมาอยู่ภายในกรงอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ คณะสัตวแพทย์ได้แบ่งกำลังออกเป็น 5 ชุด เพื่อง่ายต่อการดำเนินการยิงยาสลบ ในที่สุดคณะสัตวแพทย์ก็สามารถวางยาสลบเสือโคร่งสำเร็จ และมีการนำขึ้นรถขนย้ายออกจากเกาะเสือได้ทั้งหมดในช่วงเวลาประมาณ 10.10 น. ซึ่งเสือตัวสุดท้ายที่ออกจากเกาะเสือเป็นเสือเพศผู้ มีลำตัวขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม อีกทั้งยังมีนิสัยที่ดุร้าย ทราบชื่อเสือตามป้ายที่ติดเอาไว้ที่กรง คือ สายฟ้า 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำเจ้าสายฟ้า 2 ใส่กรงขนาดใหญ่ขนย้ายด้วยรถยนต์กระบะเพียงตัวเดียว โดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

ระหว่างนั้นมีคนงานที่เคยดูแลเสือ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ขายตั๋วเข้าชมเสือ และคนงานแผนกต่างๆ ของวัด จำนวน 62 คน มารวมตัวกันที่โรงอาหารด้านหน้าทางเข้าประตูวัด เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ประกันสังคม เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยมีการนัดหมายว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาให้บริการเกี่ยวกับด้านเอกสานการสมัครงานในวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย.นี้

ต่อมา เมื่อเวลา 11.30 น. นายอดิศร นุชดำรง รองอธิบดีกรมอุทยานฯ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่อาคารศูนย์บัญชาการชั่วคราวที่ตั้งอยู่ที่ประตูทางเข้าวัดริมถนนสาย 323 หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้ นายอดิศร นุชดำรง รองอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.กาญจนบุรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดหางาน จ.กาญจนบุรี มาร่วมแถลงข่าวด้วย เนื่องจากที่ดินของวัดป่าหลวงตาบัวฯ เช่าจาก ส.ป.ก. จำนวน 396 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา ดำเนินการขอใช้พื้นที่โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่วนจัดหางานจังหวัดกาญจนบุรี ให้เข้ามาดูแลคนงานของวัดที่ต้องตกงานหลังจากคณะเจ้าหน้าที่ทำการขนย้ายเสือออกไป

ขณะเดียวกัน หน้าโต๊ะแถลงข่าว คณะเจ้าหน้าที่ได้นำซากลูกเสือโคร่งแรกเกิดที่ถูกดองอยู่ในขวดโหล จำนวน 30 ขวด รวมทั้งซากหมีควาย 1 ซาก ซากเสือดาว 2 ซาก ทั้ง 2 ชนิดถูกสตัฟฟ์ทั้งตัว และยังมีซากเสือไฟ ซากกวางป่า และโครงกระดูก 2 โครง มาวางประกอบในการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นจำนวนมาก โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า คณะสัตวแพทย์ที่เดินทางมาจากทั่วประเทศหลายร้อยคน ต่างแสดงความยินดีเป็นอย่างมากที่สามารถปฏิบัติการขนย้ายเสือได้อย่างราบรื่น เนื่องจากไม่มีใครได้รับอันตราย และไม่มีเสือตัวใดได้รับอันตรายเช่นกัน โดยก่อนทุกคนจะแยกย้ายกลับต้นสังกัด ต่างร่วมกันถ่ายภาพหมู่เอาไว้เป็นที่ระลึก ทำให้บรรยากาศก่อนการแถลงข่าวเป็นไปอย่างคึกคัก

โดย นายอดิศร นุชดำรง รองอธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า สำหรับเสือโคร่งในบัญชีของมีทั้งหมด 147 ตัว วันที่ 28 ม.ค.กรมอุทยานฯ ขนย้ายไป 5 ตัว และวันที่ 23 ก.พ.ขนย้ายอีก 5 ตัว รวม 10 ตัว ยังคงเหลือเสือโคร่งของกลาง จำนวน 137 ตัว จึงขอชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า การพบเสือโคร่งเพิ่มมาอีก 2 ตัวนั้น กรมอุทยานฯ ต้องขออภัยเนื่องจากเสือทั้ง 2 ตัวดังกล่าวอยู่ในบัญชีเสือ จำนวน 147 ตัว แต่เนื่องจากเสือได้ถูกปล่อยให้เดินไปมาอย่างอิสระทำให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจนับเข้าใจว่า พบเสือโคร่งอีก จำนวน 2 ตัว จึงขอชี้แจงต่อสื่อมวลชนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลดังกล่าว

สำหรับการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น กรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกร ประจำกรมอุทยานฯ ให้ประสานงานร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยค ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ก็จะเร่งทำบันทึก และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดให้แก่พนักงานสอบสวน สภ.ไทรโยคให้เร็วขึ้น และการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่เป็นเป็นมวยล้มต้มคนดูอย่างเด็ดขาด หากผลการสอบสวนพาดพิงไปถึงใครจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลผู้นั้นอย่างเด็ดขาดเช่นกัน โดยจะถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตรา 19, 20, 47, 55 และ 59 โดยหลังจากดำเนินการขนย้ายเสือโคร่งแล้วเสร็จ จากนี้ไปกรมอุทยานฯ จะได้ส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่วัดป่าหลวงตาบัวฯ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้กรมอุทยานฯ จะขนย้ายเสือสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีสัตว์ชนิดอื่นที่มีอยู่ในบัญชีของกลางอยู่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการขนย้ายให้แล้วเสร็จเสียก่อน จากนั้นจึงจะรายงานผลดำเนินการต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีให้ทราบโดยเร็ว

ด้าน นายวัชรินทร์ วากะมะนนท์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ได้เพียง 6 เดือน โดยจากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินของวัดดำเนินการขอใช้พื้นที่โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเมื่อปฏิรูปที่ดินจังหวัดเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ พบว่า มีการนำมาใช้ประโยชน์ที่ผิดวัตถุประสงค์การขอใช้พื้นที่ ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนา แจ้งว่า จะขอใช้พื้นที่เกี่ยวกับทางด้านพระพุทศานา แต่ปรากฏว่า ทางวัดกลับไม่ได้นำพื้นที่มาใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งมา ดังนั้น ทางปฏิรูปที่ดินจะส่งเรื่องไปถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอพื้นที่คืน และทางปฏิรูปที่ดินจะสำรวจเพิ่มว่า ทางวัดป่าหลวงตาบัวฯ ได้มีการรุกล้ำที่ดิน ส.ป.ก.เพิ่มเติมอีกหรือไม่

นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า การขนย้ายเสือครั้งนี้เป็นการขนย้ายเสือที่มีเป็นจำนวนมาก เชื่อเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ กำลังปรึกษาหาข้อมูลว่าการขนย้ายเสือจากทั่วโลกมีที่ใดมีมากเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ หากไม่มีทางกรมอุทยานฯ ก็จะประสานไปยัง “กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด” ให้มาบันทึกเป็นสถิติของโลกต่อไป ส่วนค่าเลี้ยงดูเสือคงต้องใช้งบประมาณปีละ 10 ล้านบาท

ทางด้าน นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร หน.ฝ่ายสุขภาพสัตว์ กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า เสือที่อยู่โซนด้านในที่เหลือ 9 ตัว ดูแล้วจะแตกต่างกับเสือที่อยู่โซนด้านนอกที่มีรูปร่างที่อ้วน ส่วนเสือ 9 ตัวที่อยู่โซนด้านในจะมีร่างกายที่แข็งแรง และดูหุ่นดี จึงน่าเชื่อได้ว่าเสือ 9 ตัว ที่อยู่โซนด้านในน่าจะมีไว้สำหรับการผสมพันธุ์ เพราะว่าดูจากการจับคู่ของเสือแล้วพบว่า เสือตัวผู้ 1 ตัว จะอยู่กับเสือเพศเมีย 3 ตัว หรือ 2 ตัว ซึ่งเป็นการจัดให้เสืออยู่อย่างเป็นระบบ สำหรับการจับเสือทั้ง 9 ตัวค่อนข้างจะอันตราย เนื่องจากเสืออยู่รวมกันกรงละ 2-3 ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถยิงยาสลบเสือทีละตัวแล้วเข้าไปเอาเสือออกมาได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องต้อนให้เสือที่อยู่ในกรงออกมาอยู่ตามทางเดินด้านนอก จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่เสืออาจจะพังรั้วออกมาได้ ซึ่งคณะสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง

สำหรับเสือของกลางทั้ง 147 ตัว คณะสัตวแพทย์จะดำเนินการตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอทุกตัว แต่คงต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะเป็นขั้นตองทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจในขั้นตอนเท่าไหร่นัก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับเสือทั้ง 9 ตัว มีเพศเมียจำนวนหนึ่งที่มีน้ำนมไหลออกมา นั่นแสดงให้เห็นว่า เสือเพิ่งจะคลอดลูกออกมาได้มานาน ส่วนจะเกี่ยวข้องต่อซากลูกเสือที่พบหรือไม่นั้นจะต้องรอผลพิสูจน์ดีเอ็นเอ อยากจะฝากถึงประชาชนที่คิดจะเลี้ยงเสือว่า อันที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงนั้นมาอยู่มากมาย เช่น เลี้ยงสุนัข หรือแมว ซึ่งมีอยู่หลายสายพันธุ์ ส่วนถ้าหากคิดจะเลี้ยงเสือต้องบอกว่า ช่วงที่เสือยังเล็กก็อาจจะดูน่ารัก แต่เมื่อมันโตขึ้นมาก็อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่เลี้ยงได้ ที่สำคัญหากเจ้าหน้าที่ทราบท่านก็จะถูกจับกุม และจะถูกดำเนินคดีในข้อหาครอบครองสัตว์คุ้มครอง โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งมันไม่คุ้มค่าที่จะเสี่ยงเลี้ยงเสือ

นางเตือนใจ นุชดำรงค์ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังจากที่นำเสือของกลางไปไว้ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์เขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์เขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กรมอุทยานฯ ก็มีวิธีการเลียงดูตามวิถีของสัตว์ที่กินเนื้อ แต่เนื่องจากการที่ทางมูลนิธิฯ เคยเลี้ยงเสือชุดนี้ได้ด้วยการให้กินไก่ต้ม กรมอุทยานฯ ก็จะเลี้ยงดูเสือในเบื้องต้นด้วยวิธีเดียวกัน ซึ่งจะเลี้ยงดูให้เหมือนเดิมในช่วงระยะเวลา 7-8 วัน ด้วยการสั่งไก่จากบริษัทเบทาโกร ที่ทางมูลนิธิฯ สั่งมา จากนั้นค่อยๆ ปรับพฤติกรรมลง

ที่จริงกรมอุทยานฯ ก็สั่งไก่สดจากบริษัทดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ทางกรมอุทยานฯ จะต้องให้เสือได้กินเนื้อสดอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 กิโลกรัมต่อตัวซึ่ งเป็นการเสริมอาหารเข้าไปเพราะเสือนั้นเป็นสัตว์กินเนื้อ นอกจากนี้ อาหารยังมีการคลุกเคล้าพวกวิตามิน และเกลือแร่เข้าไปด้วย ไม่ใช่ให้แค่ไก่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ถามว่าเสือโคร่งของกลางที่ยึดไปนั้นตัวที่มีนิสัยเชื่องจะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้หรือไม่นั้น ตรงนี้จากข้อมูลที่ได้รับจากทางมูลนิธิฯ ทราบว่า เสือทั้งหมดเป็นเสือพันธุ์เบงกอล ซึ่งเสือพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้มีถิ่นฐานกำเนิดในโซนแถบประเทศของเรา ดังนั้น ในเชิงวิชาการจึงไม่สามารถทำได้ เพราะอาจไปส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร และระบบนิเวศจนเราไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ เพราะฉะนั้น เสือทั้ง 147 ตัว จำเป็นจะต้องเลี้ยงไปจนสิ้นอายุขัยของมัน

สำหรับสุขภาพของเสือที่ขนย้าย มองจากสายตาพบว่า มีรูปร่างผอมจนเห็นซึ่งโครงอยู่ 2 ตัว ขนไม่เงาเหมือนเสือตัวอื่น จากการสอบถามคณะสัตวแพทย์ทราบว่า จะต้องให้ยา และดูแลอย่างสม่ำเสมอ 1 ตัว และอีก 1 ตัว จะต้องให้ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางหมอก็ได้เก็บตัวอย่างเลือดของเสือทั้ง 2 ตัว ไปตรวจหาตัวอย่างของโรคเท่าที่จะสุ่มตรวจได้เพื่อจะได้รักษาให้ถูโรค

ส่วนงบประมาณค่าเลี้ยงดู เบื้องต้น กรมอุทยานฯ ได้คำนวณออกมาแล้วว่า จำนวนเสือที่มีอยู่ 147 ตัว เฉพาะค่าอาหารคงต้องใช้งบประมาณ จำนวน 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเงินจำนวนนี้ยังไม่รวมเรื่องค่าเวชภัณฑ์ และการรักษาถ้าหากเสือเกิดป่วยขึ้นมา

สำหรับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าของกรมอุทยานฯ ที่มีอยู่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สถานีเพาะเลี้ยงของเรามีนโยบายอยู่ 2 อย่าง คือ เพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์เพื่อนำกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศของเรา ขณะเดียวกัน ก็มีหน้าที่รับเลี้ยงสัตว์ป่าที่ถูกลักลอบนำเข้ามาเพื่อการค้า หรือบางครั้งประชาชนไปลักลอบซื้อสัตว์ป่ามาเลี้ยงดูเล่น เมื่อสัตว์เหล่านั้นเติบโตขึ้นมาคนที่นำมาเลี้ยงก็ไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ สุดท้ายก็นำไปปล่อยตามสถานที่ต่างๆ เหมือนหมากับแมว เมื่อเราได้รับแจ้งก็จำเป็นต้องไปจับมาที่สถานีเพาะเลี้ยงต่างๆ ที่มีอยู่

สำหรับการขนย้ายเสือโคร่งในครั้งนี้น่าจะเป็นการขนย้ายเป็นจำนวนมากที่สุดในโลก เพราะปกติส่วนใหญ่เสือจะอยู่ตามสวนสัตว์ของเอกชนทั้งสิ้น ซึ่งเรามีหน้าที่คือ การเข้าไปดูแลเรื่องการเพิ่ม หรือลดจำนวนของเสือ โดยเราจะติดต่อไปยัง “กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด” ให้มาบันทึกเป็นสถิติของโลกต่อไป











กำลังโหลดความคิดเห็น