ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยา ประสานกรมชลประทาน เตรียมวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว หลังพบปัญหาเริ่มทวีความรุนแรง และต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน
นายเกิดชัย ธัญวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเมืองพัทยา หลังมีฝนตกลงมาไม่นานเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะนี้ทางเมืองพัทยา ได้ประสานขอความช่วยเหลือมาที่กรมชลประทาน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการเกี่ยวกับเรื่องน้ำเพื่อมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น คือ จะต้องมีการผันน้ำให้ไหลเร็วขึ้น โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำที่อยู่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำมาบประชัน จะมีน้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองพัทยา ซึ่งจะต้องผันน้ำดังกล่าวมาเก็บไว้ในอ่างมาบประชัน นอกจากนั้น บริเวณอ่างเก็บน้ำชากนอก ที่มีลำน้ำอยู่ท้ายอ่างฯ ที่จะไหลผ่านเมืองพัทยา และลงสู่ทะเล โดยจะต้องผันน้ำดังกล่าวไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำชากนอกเช่นกัน เพราะลำน้ำทั้ง 2 แห่ง สร้างผลกระทบต่อตัวเมืองพัทยา
นายเกิดชัย กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้น ทางเมืองพัทยาต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อเร่งทำการศึกษารายละเอียดของโครงการประมาณ 1 เดือน และหลังจากนั้น จะให้กรมชลประทานออกแบบการก่อสร้าง หรือดำเนินการก่อสร้าง ทางกรมชลประทานก็พร้อม ซึ่งเรื่องนี้ทางเมืองพัทยาต้องร่วมหารือเพื่อวางแนวทางที่ชัดเจน
สำหรับการสูบน้ำในช่วงฝนตกลงมาในปริมาณที่ทำให้น้ำท่วมขังนั้น ทางอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมาบประชัน มีขนาดความจุ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำชากนอก มีความจุ 23 ล้านลูกบาศก์เมตร และระยะทางในการสูบน้ำเข้าสู่อ่างฯ นั้นประมาณ 3-4 กิโลเมตรเท่านั้น
นายเกิดชัย กล่าวว่า สำหรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้จะต้องขึ้นอยู่ที่ปริมาณน้ำ โดยหากมีปริมาณน้ำจำนวนมาก เช่น ปริมาณน้ำฝนขนาด 200 มิลลิเมตร ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อให้ทันต่อการผันน้ำได้ทันท่วงทีไม่ให้ไปท่วมในพื้นที่ที่สำคัญ แต่การสูบน้ำนั้นจะต้องมีการตรวจคุณภาพน้ำก่อน โดยหากน้ำไม่ได้คุณภาพก็ต้องปล่อยทิ้งไป แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ฝนตกในช่วงแรกเป็นน้ำผิวดินก็คงไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญจะต้องช่วยกันรณรงค์ดูแลเส้นทางน้ำที่จะผันไปเก็บไว้ที่อ่างฯ ต้องมีคุณภาพ
สำหรับจุดผันน้ำนั้น ทางเมืองพัทยาจะต้องมีพื้นที่ประมาณ 2-3 ไร่ ขุดเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา โดยพื้นที่แก้มลิงนั้นจะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำดังกล่าวไปเก็บไว้ในอ่างฯ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก และใช้งบประมาณไม่สูงมากนัก แต่ถ้าจะใช้แนวทางอื่นคาดว่าจะยุ่งยาก และใช้งบประมาณสูงอย่างแน่นอน
นายเกิดชัย กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกับเมืองพัทยาอีกครั้งโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าก็ใกล้จะถึงหน้าฝนแล้ว อาจทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังไม่ทันท่วงทีกลายเป็นปัญหาซ้ำซากสร้างปัญหา และผลกระทบต่อเมืองพัทยาต่อไปอีก