xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมชลฯ ติดตามโครงการสร้างสถานีสูบน้ำโขงเข้าลำห้วยแก้ภัยแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนองคาย - กรมชลประทานเร่งดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำทั้งแบบชั่วคราวและถาวร 2 แห่งในพื้นที่อำเภอโพนพิสัย หนองคาย สูบน้ำโขงเข้ามาใช้ประโยชน์ทั้งการเกษตร และประปาหมู่บ้าน ประชาชนทั้งหนองคายและอุดรธานีได้ใช้น้ำพอเพียงช่วงหน้าแล้ง

เมื่อเวลา 09.45 น.วันนี้ (14 ม.ค.) นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการพัฒนาห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูล ซึ่งอธิบดีกรมชลประทานได้ตรวจเยี่ยมจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองก่อน หลังจากนั้นเดินทางไปติดตามโครงการที่ท้ายประตูระบายน้ำห้วยหลวง

อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า หลังจากเดือนมกราคมผ่านไป สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้น่าเป็นห่วงเพราะปริมาณฝนมีน้อยมาก ทั้ง จ.หนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น ซึ่งไทยมีแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำต้นทุนที่ตรวจสอบแล้วว่ามีความเสถียรของระดับน้ำมากที่สุด จึงต้องหาวิธีการนำน้ำโขงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในหน้าแล้ง และหน้าฝน กรมชลประทานกำลังดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ 2 แห่ง เป็นแบบชั่วคราว 1 แห่งที่เหนือสะพานห้วยหลวง ห่างจากแม่น้ำโขง 200 เมตร

โดยท้ายประตูระบายน้ำโครงการห้วยหลวง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ใช้งบประมาณ 13 ล้านบาท สามารถสูบน้ำได้ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จเดินเครื่องได้ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ส่วนสถานีสูบน้ำถาวรที่บ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดอัตราสูบ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 10 เครื่องทำการสูบน้ำโขงเข้ามากักเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง และสามารถระบายน้ำจากลำห้วยหลวงลงสู่แม่น้ำโขงในฤดูน้ำหลาก ใช้งบประมาณ 2,580 ล้านบาท จะมีการสร้างพนังกั้นน้ำเพื่อไม่ให้การระบายน้ำในช่วงหน้าฝนเข้าไปท่วมพื้นที่การเกษตรของประชาชน

เมื่อสถานีสูบน้ำทั้งสองแห่งนี้แล้วเสร็จจะช่วยให้ประชาชนมีน้ำใช้ในการเกษตร 8 หมู่บ้าน 3 ตำบลของอำเภอโพนพิสัย หรือประมาณ 12,000 ไร่ ใช้เป็นน้ำต้นทุนในระบบประปาหมู่บ้าน 7 หมู่บ้าน นอกจากนี้สำหรับสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองจะส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 250,000 ไร่ และช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.หนองคาย และอุดรธานี ได้ 13,000 ไร่ รวมถึงทำให้พื้นที่รอบชลประทานในลุ่มน้ำใกล้เคียงมีน้ำหล่อเลี้ยงประมาณ 1.3 ล้านไร่

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ศึกษาโครงการพัฒนาการใช้น้ำโขงเพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำข้างเคียง อาทิ โครงการพัฒนาการใช้น้ำโขง-ห้วยหลวง-ลุ่มน้ำสงคราม และโครงการผันน้ำหนองหานกุมภวาปี-อ่างเก็บน้ำลำปาว-น้ำพอง-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ซึ่งจะสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ประโยชน์ในอัตราสูงสุด 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถเติมน้ำปริมาณ 2,178 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีให้อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ส่งน้ำตามฝาย คู คลองต่างๆ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น