xs
xsm
sm
md
lg

ชี้รถไฟทางคู่ “จิระ-อุบลฯ” เพิ่มศักยภาพศรีสะเกษส่งออกสินค้า เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร.ฟ.ท.ระดมความคิดเห็นสรุปผลการศึกษารถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชานี ที่จ.ศรีสะเกษ วันนี้ ( 24 มี.ค.)
ศรีสะเกษ - ร.ฟ.ท.ระดมความคิดเห็นสรุปผลการศึกษารถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชานี ที่ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมต่อการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียน คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 ชี้เพิ่มขีดความสามารถด้านการเดินทางและการส่งออกสินค้าของ จ.ศรีสะเกษ และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (24 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องสุขวิช รังสิตพล มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายยุทธนา วิริยะกิตติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 งานบริการที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี เพื่อนำสรุปผลการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม จำนวนประมาณ 200 คน โดยมีนายธงชัย อุ้ยเจริญ หัวหน้ากองจัดการที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้กล่าวรายงาน

นายธงชัย อุ้ยเจริญ หัวหน้ากองจัดการที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมทางจิระ-อุบลราชธานี มีระยะทางรวมประมาณ 307.7 กม. โดยแนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) และมีย่านกองเก็บขยะและขนถ่ายสินค้า (CY) 4 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ สถานีบุฤๅษี จ.สุรินทร์ สถานีหนองแวง จ.ศรีสะเกษ และสถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี

ย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) ทั้ง 4 แห่ง จะก่อสร้างในพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด แต่จะมีการเวนคืนพื้นที่ที่สถานีหนองแวง จากถนนทางหลวงหมายเลข 226 เข้าสู่สถานี เพื่อสร้างถนนกว้าง 12 เมตร ระยะทางประมาณ 650 เมตร

ส่วนปัญหาจุดตัดทางรถไฟ จำนวน 131 จุด มีแนวทางแก้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง 2. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู 3. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ 4. ยกระดับทางรถไฟและก่อสร้างรั้งกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2561 และจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารจำนวนประมาณ 7.22 ล้านคน/เที่ยว/ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้า ประมาณ 860,200 ตัน/ปี อีกทั้งยังลดระยะเวลาในการเดินทางจาก จ.นครราชสีมา-จ.อุบลราชธานี จากเดิม 5 ชม.30 นาที เป็น 3 ชม.15 นาที

การพัฒนาเส้นทางรถไฟช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานีนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการเดินทางและการส่งออกสินค้าให้แก่ จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยในอนาคตหากมีการต่อขยายแนวเส้นทางจากสถานีอุบลราชธานี ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ไปยังบริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว จะทำให้แนวเส้นทางนี้ช่วยทำหน้าที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตามระเบียบเศรษฐกิจในแนวตะวันออก-ตะวันตก ได้ดียิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการเป็นศูนย์กลางด้านลอจิสติกส์ของไทยในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตองประชาชนโดยรอบโครงการ

ภายหลังการประชุมในครั้งนี้แล้ว ทาง ร.ฟ.ท.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ และเตรียมส่งมอบให้แก่กระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น