ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ร.ฟ.ท.เปิดเวทีฟังเสียงชาวเมืองย่าโม หาข้อสรุปโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ มูลค่ากว่า 4.8 หมื่นล้าน รองรับการเดินทางสะดวกรวดเร็ว คาดสร้างเสร็จปี 2565 มีผู้โดยสารเพิ่มเป็น 7.22 ล้านคน ลดเวลาเดินทางเหลือแค่ 3.15 ชม. เผยเพิ่มศักยภาพโคราช เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ขนส่งถ่ายเทสินค้าอุตฯ เกษตรที่สำคัญของอีสาน รวมถึงสินค้ากลุ่มซีเมนต์
วันนี้ (22 มี.ค.) ที่โรงแรมซิตี้ พาร์ค อ.เมือง จ.นครราชสีมา ร.ต.นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 3 งานบริการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี โดยมีนายธงชัย อุ้ยเจริญ หัวหน้ากองจัดการที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้งวิศวกรโครงการ, ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม, ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์ ร่วมให้การต้อนรับและชี้แจงรายละเอียด โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สถานศึกษา และประชาชนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการเข้าร่วมกว่า 200 คน
ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อมการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายทุกภาคส่วน นำมาพิจารณาประกอบการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการรถไฟรางคู่ต่อไป
สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมชนจิระ-อุบลราชธานี มีระยะทางรวมประมาณ 307.7 กิโลเมตร (กม.) โดยแนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 34 สถานี(ไม่รวมสถานีชุมทางจิระ) และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) 4 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ สถานีบุฤๅษี จ.สุรินทร์ สถานีหนองแวง จ.สรีสะเกษ และสถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี ซึ่ง CY ทั้ง 4 แห่งจะก่อสร้างในพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด แต่จะมีการเวนคืนพื้นที่ที่สถานีหนองแวง จากถนนทางหลวงหมายเลข 226 เข้าสู่สถานี เพื่อสร้างถนนกว้าง 12 เมตร ระยะทางประมาณ 650 ม.
ส่วนปัญหาจุดตัดทางรถไฟ จำนวน 131 จุด มีแนวทางแก้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง 2.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู 3. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ 4. ยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ
สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุนอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) ร้อยละ 14.25 มูลค่าลงทุนโครงการ 48,480.93 ล้านบาท โดยในปี 2565 มูลค่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ 6,122.8 ล้านบาท/ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ 3,490.4 ล้านบาท/ปี ประหยัดเวลาเดินทาง 1,224.7 ล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 1,407.7 ล้านบาท/ปี
คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2561 แล้วเสร็จในปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 7.22 ล้านคน-เที่ยว /ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ860,200 ตัน/ปี อีกทั้งลดระยะเวลาเดินทางจาก จ.นครราชสีมา-จ.อุบลราชธานี จากเดิม 5 ชม.30 นาที เป็น 3 ชม.15 นาที
นอกจากนี้ยังได้มีการนำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชน เช่น การสร้างแนวคันป้องกันดิน เพื่อป้องกันการชะล้างดินจากการเปิดหน้าดินในการก่อสร้างลงสู่แหล่งน้ำ การติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราวและทำการขุดเจาะในช่วงเวลากลางวัน เพื่อลดผลกระทบด้านการสั่นสะเทือน เป็นต้น ซึ่งตรงตามมาตรการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำหนดไว้
ทั้งนี้ การพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์กลางด้านขนส่งลอจิสติกส์ที่ช่วยขนส่งถ่ายเทสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ข้าว แป้งมันสำปะหลัง น้ำตาล รวมถึงสินค้าในกลุ่มซีเมนต์ อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง ส่งเสริมการค้าการลงทุนของจังหวัดให้มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ต้องการให้จังหวัดเป็นประตูเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และกระจายสินค้าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาไปพิจารณาประกอบในรายงานผลการศึกษาทุกด้านของโครงการ และเตรียมส่งมอบให้แก่กระทรวงคมนาคมดำเนินการในขั้นตอนต่อไป