เชียงราย - ท่องเที่ยวฯ ประชุมวาระจังหวัดเชียงรายเน้นพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชนหนุนเมืองเกษตรสีเขียว อาหารปลอดภัย วิถีไทยล้านนา ระบุเจาะเลือดคนเชียงราย 300 คน เกือบครึ่งมีภาวะเสี่ยงเลือดปนเปื้อนสารเคมี
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมริมกก รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย น.ส.ปราณปริยา พลเยี่ยม ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย เป็นประธานในการเปิดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการพัฒนาท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อสนับสนุนเกษตรปลอดภัยขับเคลื่อนวาระ จ.เชียงราย เมืองเกษตรสีเขียวอาหารปลอดภัยวิถีไทยล้านนา”
โดยมีนายกิตติ ทิศสกุล นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ ในฐานะผู้จัดการโครงการอาหารปลอดภัยเชียงรายเป็นสุข นำตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องจำนวน 30 ชุมชนเข้าร่วม กิจกรรมจัดให้มีการแจ้งถึงวาระจังหวัดในการขับเคลื่อนให้เกิดอาหารปลอดภัยและอนุรักษ์วิถีล้านนาดังกล่าว พร้อมแจ้งแนวทางการสนับสนุนด้านงบประมาณ การเชื่อมอาหารปลอดภัยกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน จ.เชียงราย ฯลฯ
นายกิตติกล่าวว่า เชียงรายเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่มีอัตลักษณ์และยังเป็นเมืองการเกษตร ดังนั้น จังหวัดจึงกำหนดให้มีวาระจังหวัดในการส่งเสริมเกษตรปลอดภัย โดยจังหวัดใช้งบประมาณ 25 ล้านบาทสร้างศูนย์เกลียวทิพย์ที่ ต.นางแล อ.เมือง เพื่อรองรับผลผลิตของเกษตรกรเพื่อจำหน่าย
โครงการยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายจนมีอยู่รวมกัน 300 กลุ่มแล้ว และได้คัดเลือกเฉพาะ 30 ชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบสำหรับขับเคลื่อนให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองที่มีการนำเรื่องของอาหารมาเป็นสิ่งนำร่อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งต้นน้ำ คือ เกษตรกรผู้ผลิต กลางน้ำ คือ ผู้ประกอบการต่างๆ และปลายน้ำคือ ผู้บริโภคที่จะได้รับความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพและการท่องเที่ยวของจังหวัดได้ในที่สุด
นายกิตติกล่าวว่า สาเหตุที่เชียงรายขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นเมืองการเกษตรและการท่องเที่ยวแล้ว ยังพบข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขว่าคนไทยป่วยตายด้วยโรคมะเร็งปีละกว่า 60,000 คน เพราะบริโภคไม่ปลอดภัย โดยพบว่าผักมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานยุโรป 30-40% และมีการเกษตรอินทรีย์เพียงแค่ 0.1% ของทั้งหมดด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ที่สำคัญคือพันธุ์ผักและพืชไร่อยู่ในมือกลุ่มทุนแค่ 3-4 บริษัท สินค้าปลีกที่เกี่ยวข้องอยู่ในร้านสะดวกซื้อกว่า 75% และมีอิทธิพลต่อการบริโภคของคนรุ่นใหม่มาก
ขณะที่ผู้บริโภคต่างก็พบสารพิษในเลือดจากสังคมเช่นนี้กว่า 32% เพราะประเทศไทยนำเข้าสารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้ามากเป็นอันดับ 4 ของโลกและยาฆ่าเชื้อรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก
“ที่น่าสนใจคือแม้เราจะเป็นเมืองเกษตร แต่กลับนำเข้าผักจากจีนที่ผ่านทาง อ.เชียงของ ปีละกว่า 1,282 ล้านบาท และผลไม้ 857 ล้านบาท สินค้าเหล่านี้เมื่อนำเข้ามาแล้วก็ส่งไปตลาดไทอย่างรวดเร็ว ต่อมาเมื่อทางสาธารณสุขสุ่มตรวจผลไม้และพืชผักต่างๆ ในตลาดก็พบว่ามีปนเปื้อนสารเคมีมากมายโดยมีอยู่ 9 อันดับที่น่ากลัว แม้แต่คนเชียงรายเองทางจังหวัดเคยตรวจเลือดข้าราชการจำนวน 85 คนพบว่ามีปนเปื้อนหมดและอยู่ในขั้นไม่ปลอดภัยถึง 30 คน” นายกิตติกล่าว และว่าสำหรับชาวเชียงรายที่สุ่มตรวจ 299 คนพบมีคนปกติแค่ 15 คน และมีกลุ่มที่มีสารเคมีในเลือดแล้วไม่ปลอดภัยถึง 57 คนและมีความเสี่ยง 121 คน ดังนั้นโครงการจึงมีการสร้างเครือข่ายผู้ผลิต ช่องทางจัดจำหน่ายสินค้า สร้างเครือข่ายร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ เพื่อใช้ผลผลิตที่ปลอดภัย มีเครือข่ายผู้บริโภคและนำไปสู่การที่เชียงรายเป็นเมืองการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ในที่สุด