ร้อยเอ็ด - จังหวัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษจากโรงสีข้าวและโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังชาวบ้านโวยเดือดร้อน ร้องเรียนมาเกือบ 20 ปีไม่เคยแก้ไข แถมขู่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ก็ขายบ้านย้ายไปที่อื่น ด้านทหารจี้เร่งเคลียร์ปัญหา หากทำไม่ได้จะใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าไปจัดการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อบต.เหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด นายชยันต์ ศิริมาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และ พ.อ.ทนงศักดิ์ กิตติทรัพย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 ร่วมเป็นประธานที่ประชุมคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษจากโรงสีข้าวและโรงไฟฟ้าชีวมวล
พ.อ.ทนงศักดิ์ กิตติทรัพย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีชาวบ้านร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมร้อยเอ็ดให้แก้ปัญหา กรณีได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นควันละอองแกลบ และมลพิษและมลภาวะทางเสียง ของประชาชนจำนวน 7 หมู่บ้าน คือ หมู่ 9, 10, 11, 12, 13, 15 และหมู่ที่ 16 รวมทั้งสถานศึกษา และเด็กนักเรียน ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 ราย
ประกอบด้วย บริษัท บัวสมหมาย จำกัด บริษัท บัวสมหมายผลิตไฟฟ้า จำกัด จำนวน 2 โรง บริษัทร้อยเอ็ดกรีน จำกัด ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านมาเกือบจะ 20 ปี และร้องเรียนปัญหานี้มาโดยตลอดแต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และไม่มีความชัดเจนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องว่าจะแก้ปัญหาที่เดือดร้อนถาวรของพวกเขาได้ จนกระทั่งล่าสุดจึงร้องศูนย์ดำรงธรรมและตั้งความหวังว่าจะได้รับการแก้ไขให้ในยุค คสช.เป็นที่พึ่งของประชาชน ให้เข้าไปช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ตรงความต้องการของประชาชน
ทั้งนี้ จากการถกกันในที่ประชุม ทุกฝ่ายต่างยอมรับว่ามีรายงานความเดือดร้อนของชาวบ้านร้องให้จังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแล พิจารณาช่วยเหลือแก้ปัญหาที่เดือดร้อนของชาวบ้านมาทุกปี แต่ไม่เคยมีใครแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าว
ด้านนายไพบูลย์ แน่นอุดร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหนือเมือง กล่าวว่า แม้ได้แจ้งให้ผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 3 แห่งแก้ไขและระงับเหตุรำคาญที่เกิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แต่ในปัจจุบันประชาชนยังได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองและเถ้าแกลบดำอยู่อย่างต่อเนื่อง ต้องการให้คณะทำงานในครั้งนี้ที่มีทหารร่วมด้วยให้พิจารณาแก้ไขปัญหาครอบคลุมทั้ง 4 มิติในคราวเดียวกัน คือ มิติด้านกฎหมาย มิติด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ มิติด้านสถานประกอบการ และมิติด้านพลังงาน ให้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาให้ราษฎรที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
โดยต้องการให้คณะทำงานที่ร่วมประชุมด้วยในครั้งนี้สรุปข้อมูลปัญหาทั้งหมด มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องแกลบดำจากการผลิตไฟฟ้าของโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลทุกแห่ง ต้องการให้ควบคุม ให้ได้มาตรฐาน ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
“ตอนนี้ไม่เพียงแค่เดือดร้อนเฉพาะอำเภอเมืองร้อยเอ็ดเท่านั้น ยังได้ลามไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านเขตอำเภอจังหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกัน”
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังร่วมประชุมเสร็จ คณะทำงานทั้งหมดได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรับฟังปัญหาผลกระทบของชาวบ้านที่อยู่หลังโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งเพื่อหาข้อสรุปในการที่จะนำไปแก้ไขปัญหา
โดยที่บ้านหนองนาสร้าง ม.10 และบ้านหนองม่วง ม.12 ต.เหนือเมือง พบว่าชาวบ้านทุกคนต่างให้รายละเอียดว่า ประชาชนที่มีบ้านเรือนและที่ดินที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝุ่นละอองและเถ้าแกลบที่ปลิวลงสู่หมู่บ้าน และแม้แต่น้ำฝนและแหล่งน้ำก็ยังไม่ปลอดภัย จากการไหลนำเอาแกลบดำจากโรงไฟฟ้าลงสู่แหล่งน้ำ และลงสู่ไร่นาของชาวบ้านมาโดยตลอด
นางบังอร กล่อมใจ ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า เดือดร้อนมาจะ 20 ปีแล้ว ชาวบ้านทุกคน ครูบาอาจารย์ เด็กนักเรียน เด็กเล็ก และผู้ใหญ่ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ป่วยด้วยโรคตา โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังจากการระคายเคือง ทุกส่วนของร่างกายที่โดนละอองฝุ่นแกลบที่ปล่อยมาทุกวัน จนแม้แต่น้ำในภาชนะเก็บน้ำก็มีฝุ่นดำเต็มไปหมด ไม่เคยได้รับการแก้ปัญหาถาวรได้ ร้องเรียนไปแต่ละครั้งก็แก้ปัญหากันเป็นคราวๆ ไป แต่ชาวบ้านเดือดร้อนกันตลอดทั้งปี แล้วแต่ว่าช่วงไหนลมจะพัดไปทางไหนทางนั้นก็เดือดร้อน
บ่อยครั้งที่ชาวบ้านพึ่งพาส่วนราชการไม่ได้ ก็เคยมีการแจ้งความเดือดร้อนไปยังโรงไฟฟ้าให้สงสารชาวบ้าน และวิงวอนให้ช่วยแก้ปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้
“มีเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งบอกว่า หากอยู่ไม่ได้ก็ให้ขายที่ดินแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็มีชาวบ้านจำนวนมากทนไม่ไหวต้องขายที่นาให้เขาไปเพื่อหนีไปอยู่ที่อื่น แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยถาวรในหมู่บ้านก็ไม่ขาย เพราะขายแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องทนเดือดร้อนมาเกือบจะ 20 ปี ไม่เคยเห็นว่าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ได้มาก่อนเลย ครั้งนี้ร้องศูนย์ดำรงธรรมเพราะหวังพึ่ง คสช. และหวังว่าคงช่วยได้ และเป็นความหวังสุดท้าย และยืนยันว่าไม่ได้ให้ขับไล่โรงไฟฟ้าให้หนีไป แต่อยากให้แก้ปัญหาให้อยู่ร่วมกันได้เท่านั้น คือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ”
พล.ต.สถาพร ใบพลูทอง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 27 กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำ คือคณะกรรมการชุดนี้จะเร่งสรุปปัญหา และเร่งแก้ไขความเดือดร้อนที่ไม่ทราบว่าปล่อยให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากว่า 20 ปีนั้นด้วยความรวดเร็ว โดยจะเรียกเจ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่งมารับปากว่าจะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านให้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ต้องอยู่ด้วยกันได้โดยไม่ให้เขาเดือดร้อนอีก และก็ไม่ได้อยากให้โรงไฟฟ้าย้ายให้ต้องเดือดร้อน
“โรงไฟฟ้ามีมากทั่วประเทศยังไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างนี้เลย ร้อยเอ็ดก็จะต้องทำได้เช่นกัน หากแก้ปัญหาไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการเด็ดขาดเข้าไปแก้ปัญหา หากว่าคณะกรรมการชุดล่าสุดนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้อีก” พล.ต.สถาพรกล่าว