ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมเจ้าท่า วางมาตรการดูแลการขนถ่ายสินค้ากลางทะเลบริเวณหน้าเกาะสีชัง ตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ประชาชน และแหล่งท่องเที่ยว
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล (ชลบุรี) กรมเจ้าท่า กล่าวถึงนโยบายของ นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเล ประชาชน และแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะสีชัง และใกล้เคียง เนื่องจากบริเวณทะเลหน้าเกาะสีชัง มีการขนถ่ายสินค้าประเภทปูนซีเมนต์ ถ่านหิน แป้งมันสำปะหลัง ข้าวสาร น้ำตาล ฯลฯ ซึ่งมีฝุ่นละอองจากการขนถ่ายสินค้าปลิวตกสู่ท้องทะเลและบนฝั่ง สร้างปัญหา และผลกระทบเป็นอย่างมาก
ปัญหาดังกล่าวโดยทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่รับผิดชอบ และผู้ประกอบการขนส่งสินค้า เพื่อร่วมกันป้องกันปัญหาหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากเกิดปัญหามานานหลายปีแล้ว ซึ่งหากไม่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวผลกระทบจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เพราะปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีตะกอนของสินค้าสะสมใต้ท้องทะเลจำนวนมาก และปริมาณสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นลดน้อยลง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และกลุ่มชาวประมงชายฝั่งด้วย
นายภูริพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวโดยเฉพาะกรมเจ้าท่า ได้สอดรับนโยบายของผู้ว่าฯ จึงได้วางมาตรการดูแลการขนถ่ายสินค้าในช่วงที่ GRAB งับสินค้าจากระวางเรือโป๊ะ ยกขึ้นบนเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศ หรืองับสินค้าจากระวางเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศลงระวางเรือโป๊ะ แต่เปิด GRAB ปล่อยสินค้าสูงกว่าขอบระวางเรือเกินกว่า 2 เมตร ก่อนจะถึงขอบระวางเรือ ทำให้ฝุ่นละอองจากเศษสินค้าต่างๆ กระจายไปในอากาศ หรือร่วงหล่นลงในทะเล จนสร้างปัญหาถึงทุกวันนี้
“ขณะนี้ตนได้สั่งการให้เรือตรวจการณ์ของกรมเจ้าท่า ออกตระเวนเฝ้าระวังการทำงานของผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าในทะเล โดยกำชับให้ระมัดระวังในการปล่อยสินค้าลงสู่เรือโป๊ะ หรือเรือขนถ่ายสินค้าให้ช้า หรือต่ำกว่าขอบระวางเรือเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของสินค้า และจากการเฝ้าระวังผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมือดี แต่หากรายใดไม่เชื่อฟังก็จะตักเตือน และถ้าไม่เชื่อฟังก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป” นายภูริพัฒน์ กล่าว
นายภูริพัฒน์ กล่าวต่อว่า มาตรการในครั้งนี้คาดว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง โดยทางกรมเจ้าท่า จะกำกับดูแลเช่นนี้ประมาณ 2 เดือน เพื่อให้ผู้ที่ดำเนินการขนถ่ายสินค้าเกิดความเคยชินในการใช้ GRAB งับสินค้า และวางสินค้าบนเรือโป๊ะ และเรือสินค้ามีประสิทธิภาพดีขึ้นจนไม่สร้างปัญหา หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป