xs
xsm
sm
md
lg

“ชลบุรี” ตั้งคณะกรรมการเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณทะเลเกาะสีชัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายคมสัน  เอกชัย  ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ประธานแก้ไขปัญหา สวล.เกาะสีชัง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - “ชลบุรี” ตั้งคณะกรรมการภาครัฐ-เอกชนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าบริเวณทะเลเกาะสีชัง ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้น และยั่งยืน หลังสร้างปัญหา และผลกระทบว่าเป็นเวลานาน โดยจะต้องเร่งแก้ไข และฟื้นฟูโดยด่วน

วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดชลบุรี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้าบริเวณทะเลเกาะสีชัง โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเกาะสีชัง เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลบางพระ เทศบาลเมืองแสนสุข กรมเจ้าท่า ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 13 (ชลบุรี) พร้อมด้วยผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณทะเลเกาะสีชัง กว่า 10 บริษัท ร่วมประชุมในครั้งนี้

นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ทะเลบริเวณเกาะสีชังมีเรือสินค้ามาจอดทอดสมอขนถ่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก เช่น เรือขนถ่ายแป้งมันสำปะหลัง ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ข้าวสาร น้ำตาล ซึ่งที่ผ่านมา สร้างปัญหา และผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล สัตว์มีชีวิตในทะเล ประชาชน และแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเอกชนที่ประกอบธุรกิจบริเวณดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ยั่งยืน และผลกระทบที่เกิดขึ้นลดน้อยลงหรือหมดไป โดยเรื่องนี้บริษัทเรือขนส่งสินค้า เจ้าของสินค้า เรือโป๊ะ จะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายคมสัน กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการขนถ่ายสินค้าในปัจจุบัน กระทำโดยใช้ GRAB งับสินค้าจากระวางเรือโป๊ะยกขึ้นบนเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศ หรืองับสินค้าจากระวางเรือบรรทุกสินค้าต่างประเทศลงระวางเรือโป๊ะ แต่ GRAB ปล่อยสินค้าสูงกว่าขอบระวางเรือเกิน 2 เมตร ก่อนจะถึงขอบระวางเรือ เพื่อเป็นการลดระยะเวลาในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น

โดยไม่คำนึงถึงมลพิษทางอากาศ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากเศษสินค้าที่กระจายไปในอากาศ หรือร่วงหล่นลงในทะเล และเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

นอกจากนั้น ปัญหาขยะจากเรือสินค้าที่มีการลักลอบทิ้งลงทะเล ปัญหาน้ำใต้ท้องเรือที่มีคราบน้ำมันมีการปล่อยทิ้งสู่ทะเล ซึ่งปัญหาต่างๆ ผู้ประกอบการเรือสินค้าขนาดใหญ่ เจ้าของสินค้าแต่ละประเภท เจ้าของเรือโป๊ะจะต้องมีส่วนเข้ามารับผิดชอบ และร่วมกันวางแนวทางในการแก้ไขปัญหา เช่น การจ่ายเงินในการจัดเก็บขยะ การบำบัดน้ำเสียในเรือ เศษวัสดุและฝุ่นผงจากสินค้าต่างๆ ที่สร้างปัญหาทางผู้ประกอบการจะเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

“ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายๆ บริษัท เข้ามาร่วมกันวางรูปแบบ เช่น การจัดเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นเท่าไร โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคเอกชน และการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยเรื่องนี้จะต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน” นายคมสัน กล่าว

นายคมสัน กล่าวว่า นอกจากนั้น ทุ่นผูกเรือสินค้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการจอดเรือ ทำให้เรือสินค้าไปจอดนอกทุ่นผูกเรือ ซึ่งในบางครั้งช่วงมรสุมเกิดอุบัติภัยทางทะเลส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น ภาคเอกชนควรจะต้องลงทุนสร้างทุ่นผูกเรือเอง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะหากรอหน่วยงานราชการอย่างเดียวอาจไม่ทันท่วงที จึงต้องขอให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขึ้น

ด้าน นายนิยม จุฬาเสรีกุล ตัวแทนผู้ประกอบการแป้งมันสำปะหลัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นผู้ประกอบการขนถ่ายสินค้าชนิดต่างๆ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในทะเล และประชาชน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นผู้ประกอบการจะต้องเข้าไปรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่จะต้องเข้าไปรับผิดชอบ ประกอบด้วย

1.เรือเดินทางระหว่างประเทศที่เข้ามาขนส่งสินค้า 2.เรือไรเตอร์ที่ขนสินค้า 3.ทุ่นขนถ่าย และเจ้าของสินค้าต่างๆ

สำหรับความรับผิดชอบนั้น คือ จะต้องลดปริมาณฝุ่นขณะขนถ่ายสินค้าไม่ให้ฟุ้งกระจาย ซึ่งจะต้องระมัดระวังขึ้น ค่าชดเชยที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย ต้องชดเชยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อไปเยียวยาแก้ไขปัญหา หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อไป โดยอัตราค่าชดเชยนั้นจะเป็นเท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมีมีหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่จังหวัดแต่งตั้งขึ้นร่วมพิจารณาที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลต่อไป ที่สำคัญสินค้าชนิดใดที่ฟุ้งกระจาย และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากก็ต้องจ่ายมากตามไปด้วย

ด้านผู้บริหารเทศบาลตำบลเกาะสีชัง กล่าวว่า การร่วมประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่มีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องทางเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน และเสนอแนะปัญหาเพื่อร่วมกันแก้ไข เพราะในอนาคตบริเวณเกาะสีชัง และเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยไม่วางแนวทางป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยิ่งจะสร้างปัญหามากขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น เมื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นคงลดน้อยลง หรือหมดไป
มีหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมประชุมแก้ไขผลกระทบต่อเกาะสีชัง
เรือที่ขนถ่ายสินค้าบริเวณเกาะสีชัง
เรือจะต้องมีทุ่นผูกเรือ ที่ชัดเจนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น