xs
xsm
sm
md
lg

เร่งแก้ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม 3 พื้นที่เสี่ยง เริ่ม 36 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. เร่งเฝ้าระวังป้องกันปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม 3 พื้นที่เสี่ยง เดินหน้าระยะสั้นก่อน 36 จังหวัด ก่อนขยายครอบคลุมทั้งประเทศในปี 2561 - 2567 หวังคุ้มครองสุขภาพคนไทย เผยปี 59 เน้นจัดการปัจจัยเสี่ยงระดับจังหวัด

วันนี้ (10 ก.พ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่เสี่ยง” ว่า ที่ผ่านมา สธ. ได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2558 - 2567 ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคและภัยสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสุขภาพประชาชน เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ธรรมาภิบาล และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่เสี่ยงต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม 3 กลุ่ม คือ 1. พื้นที่เสี่ยงมลพิษสารเคมีและสารอันตราย ได้แก่ พื้นที่เหมืองทอง เหมืองเก่า และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2. พื้นที่เสี่ยงมลพิษทางอากาศ ได้แก่ ฝุ่นละอองหน้าพระลาน หมอกควันภาคเหนือ และโรงไฟฟ้าชีวมวล และ 3. พื้นที่ที่คาดว่าจะมีปัญหาสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม เหมืองโปแทชและโรงไฟฟ้าถ่านหิน แบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น (ปี พ.ศ. 2558 - 2560) ให้ความสำคัญในพื้นที่เสี่ยง 36 จังหวัด และระยะยาว (ปี พ.ศ. 2561 - 2567) ดำเนินการครอบคลุม 76 จังหวัด

“ปี 2559 สธ. ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระดับจังหวัด มี 5 มาตรการ คือ 1. การพัฒนาระบบฐานข้อมูล สถานการณ์และการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 2. การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของอนุกรรมการสาธารณสุขจังหวัด 3. การพัฒนาระบบบริหารจัดการของเสียจากสถานพยาบาล 4. การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม และ 5. พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชาชนผู้ได้รับผลกระทบภายใต้แนวทางการจัดบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม” รองปลัด สธ. กล่าว

นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การป้องกันดูแล และแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยระบบและกลไกการดำเนินงานที่บูรณาการจากทุกภาคส่วนในทุกระดับ โดยเฉพาะหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากสามารถเข้าถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนภายใต้บริบทของพื้นที่ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานเชิงบูรณาการระหว่างกรมอนามัย และกรมควบคุมโรค เพื่อให้ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 180 คน ได้วางแผนและจัดทำแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อยกระดับและต่อยอดองค์ความรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิผล อันจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดในการคุ้มครองและป้องกันสุขภาพของประชาชนต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น