ซีพีเอฟ จัดโครงการปลดหนี้สร้างสุข และส่งเสริมการออม มุ่งแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบให้แก่พนักงาน ด้วยการจัดหาแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ นำร่องในฟาร์มสุกร 12 แห่งทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้วิธีการบริหารจัดการด้านการเงิน และวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อสร้างขวัญ กำลังใจ และความสุขอย่างยั่งยืน
นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟให้ความสำคัญต่อ “พนักงาน” เพราะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่เป้าหมาย และนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน บริษัทจึงริเริ่มโครงการและสวัสดิการต่างๆ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น ซึ่ง “โครงการปลดหนี้สร้างสุข และส่งเสริมการออม” นับเป็นโครงการที่ช่วยปลดหนี้ให้พนักงาน
โดยร่วมกับธนาคารออมสินให้วงเงินกู้มาเพื่อช่วยเหลือลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 3-20% ต่อเดือน ให้เหลือประมาณ 0.5% ต่อเดือน ไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมการออม และเสริมสร้างและเรียนรู้ด้านการเงินด้วยการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อสร้างวินัยการเงินที่ดีให้แก่พนักงาน
“โครงการนี้นับเป็นหนึ่งในการทำ CSR ให้แก่พนักงาน จากมุมมอง 3 ด้าน คือ สุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพเงิน โดยเรื่องสุขภาพกาย และสุขภาพใจเราทำอยู่แล้ว แต่สุขภาพเงินนั้น จากการสำรวจพบว่า พนักงานยังมีปัญหาภาระการเงินอยู่จึงให้ทำแบบสำรวจโดยให้เขียนภาระการเงินของตน
ทั้งนี้ พบว่า 75% มีภาระหนี้สินทั้งใน และนอกระบบ มีพนักงานที่มีหนี้สินจำนวนมาก และต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นของตัวเอง และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้ บริษัทจึงริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา และดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน มีฟาร์มนำร่องเข้าร่วมโครงการ 12 ฟาร์มทั่วประเทศ โดยมีพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 104 คน และได้เงินสินเชื่อจากธนาคารกว่า 13 ล้านบาท” นายสมพร กล่าว
โครงการปลดหนี้สร้างสุขและส่งเสริมการออม ได้ดำเนินโครงการใน 12 ฟาร์มใน 5 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ ประกอบด้วย ฟาร์มชัยภูมิ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประกอบด้วย ฟาร์มคอนสวรรค์ และฟาร์มพนมสารคาม จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย ฟาร์มเกษตรสันติราษฎร์ และ ฟาร์มไร่สาม จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย ฟาร์มจอมทอง จังหวัดสระบุรี ประกอบด้วย ฟาร์มคำพราน ฟาร์มคำพราน 2 ฟาร์มพระพุทธบาท ฟาร์มแสลงพัน โครงการส่งเสริมสระบุรี และฟาร์ม 5 ไร่
ซีพีเอฟ ได้วางแนวทางในการดำเนินโครงการไว้ 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้านการเงิน 2.การสำรวจภาระการเงินส่วนบุคคล 3.การหาแหล่งเงินกู้ที่ดอกเบี้ยต่ำ 4.การคัดเลือกผู้กู้ 5.การคืนหนี้ให้เจ้าหนี้และสถาบันการเงิน 6.การชำระเงินกู้คืนแก่ธนาคาร
7.การรณรงค์การออมเงิน ทั้งผู้ที่มีภาระหนี้สิน และชักชวนผู้ที่ไม่มีภาระหนี้สินมาร่วมออมด้วย ผ่านการเปิดสมุดบัญชีฝากประจำ ซื้อฉลากออมสิน หรือสลาก ธ.ก..ส ฯลฯ และ 8.การติดตามผลเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่พนักงาน ส่งผลให้พนักงานกลับมามีความสุข ตั้งใจทำงาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างพื้นฐานอนาคตที่ดีให้แก่พนักงาน ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
หนึ่งในพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ นายมาโนต-นางบุญหลง แจงตคุ พนักงานฟาร์มพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตนเอง และสามีมีหนี้บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นหนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลูกบ้านใหม่ เนื่องจากแยกครอบครัวออกมา ประกอบกับแม่สามี และพี่ชายสามีมาเสียชีวิต จึงทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งยังต้องส่งลูกในวัยเรียน 2 คน เรียนหนังสือ ทำให้การเงินมีปัญหา หลังเข้าร่วมโครงการทำให้สิ้นเดือนไม่ต้องเครียดหาเงินจ่ายบัตรเครดิต ทำให้มีความสุขมากขึ้น
นางบุญมา สุขไซแอม อายุ 53 ปี แม่ครัวฟาร์มพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นหนี้ว่า เกิดจากการมีเงินไม่พอใช้จ่ายภายในครอบครัวเรือน และต้องส่งลูกเรียนถึง 2 คน เมื่อเงินไม่พอจึงใช้วิธียืมเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เป็นหนี้สะสม นอกจากนี้ ยังนำเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์ และจัดงานแต่งงานให้ลูก ก่อเกิดเป็นหนี้ทั้งใน และนอกระบบ เพียงเพื่ออยากให้ มีเงินมาหมุนใช้หนี้ในแต่ละเดือนๆ ทำให้ชีวิตลำบากมาก เงินเดือนไม่พอที่จ่ายหนี้ หลังเลิกงานต้องไปกรอกมูลสุกรเพื่อเป็นรายได้เสริม โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนจะถูกทวงหนี้ ทำให้กังวลตลอดเวลา
หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ของบริษัทเข้ามาช่วยปลดหนี้ ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น สบายใจ ไม่ต้องคอยหลบการทวงหนี้ ทำให้มีเงินใช้จ่ายในครอบครัวเพียงพอ และเหลือบางส่วนเก็บสะสม
นายสมพร กล่าวอีกว่า พนักงานที่เข้าร่วมโครงการทุกคนต่างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนอกจากพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทในการแก้ไขปัญหาแล้ว บริษัทยังสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้พนักงานกลับไปประสบปัญหาด้านการเงินอีกครั้ง ให้ด้วยการจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพด้านการเงิน ได้เรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือน ทำให้ทราบรายรับ-รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง อันนำไปสู่ความสามารถในการวางแผนทางการเงิน และการวางแผนการออมในอนาคตได้เป็นอย่างดี