xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ อุดรฯ เผยยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง ยันพอรับมือไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - ผู้ว่าฯ อุดรฯ ชี้หลายพื้นที่ตอนล่างอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เกษตรกรยังทำไร่ทำนาได้อยู่ แม้พื้นที่ตอนบนจะแห้งขอดแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้ประกาศให้พื้นที่ใดเป็นพิบัติแล้ง ยังพอรับมือไหว

รายงานข่าวแจ้งว่า นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วย นายรักสกุล สุริโย เกษษตรและสหกรณ์จังหวัดอุดรธานี และสื่อมวลชนได้ขึ้นทำการบินสำรวจพื้นที่สถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดอุดรธานี พร้อมตรวจดูพื้นที่ไฟป่า และพื้นที่บุกรุกป่าในบริเวณลุ่มน้ำน้ำห้วยหลวงตลอดแนว โดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของศูนย์ทำฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขนาด 6 ที่นั่ง

ทั้งนี้ ก่อนขึ้นทำการบิน นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้วางแผนเส้นทางบินเป็นวงกว้าง โดยไปเริ่มทำการบินมาจากปากห้วย จ.หนองคาย ซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนห้วยหลวง ไล่เรื่อยขึ้นไปตามแนวผ่านของลำห้วยหลวง จนถึงบริเวณต้นลำห้วยหลวง ที่เทือกเขาภูพานน้อย ซึ่งใช้เวลาทำการบินรอบประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการบินสำรวจแล้ว นายชยาวุธ จันทร ผวจ. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า สำหรับพื้นที่ของลุ่มห้วยหลวงในส่วนของจังหวัดอุดรธานี มีหลายพื้นที่ในเขต อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ยังมีเกษตรกรสามารถทำนาปรังได้อยู่ เนื่องจากในพื้นที่ต่อเนื่องกับลุ่มน้ำห้วยตอนล่างที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดหนองคายยังมีสภาพที่คอนข้างอุดมสมบูรณ์

แต่ในส่วนของบริเวณต้นน้ำลำห้วยหลวง เทือกเขาภูพานน้อย มีหลายพื้นที่มีน้ำน้อย บางแห่งแห้งขอด ตื้นเขิน บางแห่งก็ยังพบว่ามีน้ำคลองอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการบริหสนจัดการน้ำในทุกพื้นที่นั้นตนได้สั่งการให้ทุกอำเภอแล้วว่า ในปีที่แล้วติดต่อมาถึงปีนี้ สถานการณ์น้ำในพื้นที่น่าเป็นห่วง เพราะยังอยู่ในช่วงของเอลนีโญ จึงขอให้ท้องถิ่นทุกพื้นที่ร่วมกันทำการเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ โดยใช้โครงการ 88 ฝาย 88 พรรษา เข้ามาดำเนินการ และขณะนี้ในทุกอำเภอได้ทำฝายกระสอบทรายไปแล้ว 1,020 แห่ง ทำให้มีน้ำเก็บกักอยู่พอสมควร เพื่อการปศุสัตว์ และอุปโภคบริโภค และมีโครงการที่จะให้บางท้องที่ทำเป็นฝายถาวรเลย

“ยืนยันว่าในภาพรวมของจังหวัดอุดรธานี ยังไม่ได้แล้งถึงขีดสุด แต่สภาพแล้งก็มีการกระจายตัวไปตามธรรมชาติ เพราะเท่าที่พบเห็นจากการบินสำรวจก็ยังพบว่า ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ลำห้วยหลวง หรือใกล้กับหนองบึง ขนาดใหญ่นั้นเกษตรกรยังมีการทำนาปรัง เพาะปลูกพืชผักกันได้อยู่”

ในส่วนของการจัดการบริหารน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภคในช่วงนี้ต่อไปจนถึงฤดูฝนจะต้องมีการบูรณาการงบประมาณจากทุกภาคส่วน เพื่อให้มีการจัดหาน้ำมาเก็บกักเอาไว้ให้เพียงพอ และขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้จังหวัดอุดรธานี ยังไม่ได้มีการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งเลย และในปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ประกาศเช่นเดียวกัน

นายชยาวุธ ระบุเพิ่มเติมว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ก็ได้มีการสำรวจปัญหาของการบุกรุกพื้นที่ป่า การเกิดไฟป่าไปในครั้งเดียวกันเลย พบว่า เผาไร่นามีเพียงรายเดียว ส่วนไฟป่าเกิดขึ้นเพียง 3-4 จุด ถือว่าน้อยกว่าหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม นายชยาวุธ กล่าวฝากไปยังประชาชนอย่าทำการเผาป่าเพื่อเก็บของป่า หรือสัตว์ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาภัยร้อน แล้ง และทำให้คุณภาพดินเพาะปลูกเสื่อมคุณภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น