xs
xsm
sm
md
lg

สภาพภูมิอากาศยังไม่เป็นใจ กระทบทำฝนหลวงแก้แล้งขอนแก่นสะดุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - สถานการณ์ภัยแล้งขอนแก่นหนักสุดรอบ 20 ปี หลังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การไม่ถึง 3% ระบุต้องทำฝนหลวงเหนือเขื่อน มุ่งเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำ แต่สภาพภูมิอากาศไม่อำนวย ล่าสุดเจ้าหน้าที่ทำฝนหลวงเริ่มบินสำรวจพื้นที่แล้ว

หลังจากสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดขอนแก่นเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี หลังจากระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีระดับกักเก็บน้ำต่ำสุด โดยระดับน้ำอยู่ที่ 175.34 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) คิดเป็นปริมาณน้ำ 634.99 ล้าน ลบ.ม. หรือ 26.12% มีน้ำใช้การได้เพียง 53.32 ล้าน ลบ.ม.หรือแค่ 2.88% จึงมีแนวคิดทำฝนหลวงพื้นที่เหนือเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเติมปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นบรรเทาภัยให้คลี่คลายลง

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติทำฝนหลวงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าจะมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือประจำที่จังหวัดขอนแก่น มีความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องมือ รวมถึงสารฝนหลวงเกลือแป้ง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ณ ปัจจุบันยังไม่พร้อมดำเนินการ

นายทวี กาญจนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2559 เป็นต้นมาได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มที่จังหวัดนครราชสีมา โดยขึ้นทำฝนหลวงช่วยพื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร และตามแหล่งน้ำสำคัญอย่างเช่น เขื่อนลำตะคอง และในวันที่ 1 เมษายนนี้จะเปิดฐานปฏิบัติการที่จังหวัดอุดรธานี และวันที่ 1 มิถุนายน ที่จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางสนับสนุนสารฝนเกลือแป้งที่ใช้ทำฝนหลวง ให้กับฐานปฏิบัติการในจังหวัดนครราชสีมา อุดรธานี และอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้เตรียมทั้งบุคลากร และเครื่องมือไว้พร้อมแล้ว เมื่อมีการร้องขอให้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง

ส่วนจังหวัดขอนแก่น ขณะนี้ยังไม่สามารถขึ้นทำฝนหลวงได้ เนื่องจากสภาพอากาศยังไม่เป็นใจ ทั้งที่มีการร้องขอจากประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมาได้ขึ้นบินสำรวจแหล่งน้ำสำคัญเพื่อเตรียมขึ้นทำฝนหลวง โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ ที่พบว่าขณะนี้มีน้ำใช้งานเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
นายทวี กาญจนา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



กำลังโหลดความคิดเห็น