หนองคาย - ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่หนองคาย ตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ยืนยันบริหารจัดการน้ำในระบบช่วยเกษตรกรใน 2 จังหวัด หนองคาย และอุดรธานี มีน้ำใช้ไปจนถึงฤดูฝน ลุ่มน้ำโขงไม่น่าห่วงเท่าลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำใช้เหลือเพียง 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ขอทุกภาคส่วนประหยัดน้ำร่วมกัน
เมื่อเวลา 10.45 น. วันนี้ (11 มี.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำสวย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งตรวจการติดตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง ที่ประตูระบายน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โดยมีนายสุชาติ นพวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลการดำเนินงาน
บริเวณประตูระบายน้ำห้วยหลวง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2 จุด จุดละ 4 เครื่อง ทำการบริหารจัดการน้ำในลำห้วยหลวงและแม่น้ำโขง ให้สามารถมีน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ และเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 36 ตำบล 8 อำเภอ 2 จังหวัดของหนองคายและอุดรธานี จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ 249 หมู่บ้าน 29,835 ครัวเรือน ในฤดูแล้งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน 250,000 ไร่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการบินสำรวจต้นน้ำที่ห้วยหลวง จ.อุดรธานี เรื่อยมาจนถึงจังหวัดหนองคาย พบว่าประชาชนและภาครัฐได้ช่วยกันบริหารจัดการน้ำ ด้วยการชะลอน้ำและกักเก็บน้ำในลำห้วยก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขงได้ดี ประชาชนมีการเก็บกักน้ำในบ่อน้ำขนาดเล็กเพื่อลำเลียงน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.หนองคาย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายได้บริหารจัดการน้ำได้ดี ทำให้ประชาชนใช้ประโยชน์ทางการเกษตร การประมง ทำให้พื้นที่ จ.หนองคาย ไม่ได้รับผลกระทบและไม่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง แต่อาจมีบางพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินอาจมีปัญหาบ้างขึ้นกับสภาพพื้นที่ ทางกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทยได้บริหารจัดการน้ำร่วมกัน น่าจะช่วยให้ประชาชนผ่านพ้นภัยแล้งไปได้ด้วยดี
สำหรับภาพรวมทั้งประเทศขณะนี้ สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤตค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักฯ ตอนนี้เหลือปริมาณน้ำอยู่ประมาณ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จากที่ควรจะมีน้ำประมาณ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่กรมชลประทาน และกระทรวงมหาดไทย ได้บริหารจัดการน้ำคาดว่าน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศยังพอเพียง แต่ต้องขอความร่วมมือประชาชน นอกจากภาคการเกษตรแล้ว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไปได้ช่วยกันประหยัดน้ำจะทำให้การบริหารจัดการน้ำได้ใช้ไปจนถึงฤดูฝน
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำฝนหลวงว่า นอกจากพื้นที่ภัยแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ทั่วไปแล้ว โซนนอก 23 จังหวัด ทางนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เตรียมปฏิบัติการทำฝนหลวงตลอดเวลา หากมีความชื้นจุดใดจะให้เครื่องบินตรวจสอบหากมีความเหมาะสมก็สามารถทำฝนหลวงได้ทันที ตอนนี้มีการตั้งจุดปฏิบัติการที่ จ.นครสวรรค์ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ซึ่งหลายพื้นที่การดำเนินการฝนหลวงได้ผลดี มีน้ำเข้าพื้นที่เขื่อนเพิ่มมากขึ้น