ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “รมว.เกษตรฯ” นำคณะลุยตรวจวิกฤตแล้งโคราช ล่าสุดประกาศภัยพิบัติแล้งแล้ว 10 อำเภอ เดือดร้อน 658 หมู่บ้าน 56,578 ครัวเรือน พืชเกษตรสูญกว่า 400 ล้านบาท เผยเร่งช่วยเหลือประชาชนประสบภัยแล้งด้วย 8 มาตรการของรัฐบาล ทั้งสนับสนุนปัจจัยผลิตลดรายจ่าย ชะลอการชำระหนี้สถาบันการเงิน หนุนงบโครงการชุมชนบรรเทาผลกระทบ ลั่นประชาชนต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง
วันนี้ (4 มี.ค.) ที่วัดบ้านโนนเมือง ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์ภัยแล้ง จ.นครราชสีมา โดยมี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และมีชาวบ้านเข้าร่วมกว่า 500 คน
ทั้งนี้เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง พร้อมมอบเงินดำเนินโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง และเปิดจุดดำเนินการก่อสร้าง ลานตากผลผลิตทางการเกษตร โครงการแผนพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และเยี่ยมชมจุดส่งน้ำจากบ่อบาดาลที่ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์
สำหรับจังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดได้ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแล้ว 10 อำเภอ 61 ตำบล 658 หมู่บ้าน 56,578 ครัวเรือน เนื่องจากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และมีพื้นที่เกษตรเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนทั่วประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทราบว่าบางส่วนปลูกพืชได้รับความเสียหาย บางหมู่บ้านไม่มีน้ำ ขาดน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค บางหมู่บ้านมีแต่น้ำเค็ม โรงเรียนและโรงพยาบาลขาดน้ำ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดระดมหน่วยงานทุกภาคส่วนในลักษณะประชารัฐเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ พี่น้องประชาชนจะต้องมีน้ำอุปโภคและบริโภคให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ ทั้งสูบน้ำเข้าเก็บกัก เจาะบ่อบาดาล เป่าล้างบ่อบาดาล และแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้กำหนดมาตรการ 8 มาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง คือ 1. ส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน 2. การชะลอหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 3. การจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 4. เสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง
5. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ 6. การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 7. การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8. การสนับสนุนอื่น เช่น ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือจากพิบัติภัยแล้ง ฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ การขอรับความช่วยเหลือด้านพืชที่ประสบภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อให้ส่วนราชการปฏิบัตินำไปแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้ทุกมาตรการได้ขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบสู่พี่น้องประชาชนแล้ว