นครปฐม - เทศบาลตำบลมาบแค เมืองนครปฐม จัดโครงการสืบสานประเพณีการทำขนมจีนโบราณด้วยการจัดกิจกรรมตำแป้งขนมจีน เพื่อเป็นการส่งเสริม และอนุรักษ์ประเพณีการทำขนมจีนโบราณ และเพื่อเตรียมเลี้ยงสาธุชนที่มาร่วมงานประจำปี “วัดพะเนียงแตก”
วันนี้ (11 มี.ค.) นายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นางศศิวิมล อุทัยพันธ์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครปฐม ได้เดินทางไปที่วัดพะเนียงแตก เพื่อเป็นประธานในการเปิดโครงการสืบสานประเพณีการทำขนมจีนโบราณ ซึ่งเป็นโครงการที่ทางเทศบาลตำบลมาบแค จะกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการส่งเสริม และอนุรักษ์ประเพณีการทำขนมจีนโบราณ
โดยบรรยากาศในงานได้จัดให้มีขบวนรถม้า พร้อมทั้งเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เข้าสักการะหลวงพ่อทา จากนั้นเป็นในส่วนของพิธีเปิดงาน โดยมีพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพะเนียงแตก รองเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม นายชัยภัค สุนทรหงส์ ปลัดจังหวัดนครปฐม นายวรณัฏฐ์ หนูรอด นายอำเภอเมืองนครปฐม พ.อ.วิชัย ธารีฉัตร รองเจ้ากรมการสัตว์ทหารบก พ.ท.ณพัฒน์ ปกป้อง ผู้บังคับกองเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอเมืองนครปฐม และผู้นำชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมในพิธี
สำหรับประเพณีการทำขนมจีนโบราณของตำบลมาบแค อำเภอเมืองนครปฐม ได้มีมากว่า 100 ปีแล้ว โดยจะนิยมทำกันในช่วงเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งประชาชนแต่ละหมู่บ้านจะจัดทำอาหารคาวหวานมาร่วมทำบุญ เพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ และอาหารประเภทหนึ่งทุกครัวเรือนจะนำมาถวาย คือ ขนมจีน ร่วมกับน้ำยา น้ำพริก แกงเขียวหวาน พร้อมทั้งอาหารคาวหวานอื่นๆ
จนต่อมาเมื่อมีงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อทา ชาวบ้านตำบลมาบแค และตำบลใกล้เคียงจะพร้อมใจกันมาทำขนมจีนโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมทั้งนำวัตถุดิบในการทำขนมจีนน้ำยา เช่น ข้าวสาร มะพร้าว พริกแกง ปลา มาให้แก่ทางวัดเพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสาธุชนที่มาร่วมงานประจำปี โดยมีขั้นตอนสำคัญ คือ การตำแป้งขนมจีน ซึ่งทุกปีชาวบ้านจะมาช่วยกันตำแป้งขนมจีนประกอบเสียงเพลงที่สนุกสนานครึกครื้น โดยขั้นตอนนี้จะอยู่ที่การตำแป้งในครกใบใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงหนุ่มสาวทั้งในตำบล และละแวกใกล้เคียง จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของตำบลมาบแคมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับบรรยากาศในการตำแป้งขนมจีนเป็นไปอย่างสนุกสนาน โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยคณะส่วนราชการได้ลงแรงในการร่วมตำแป้งขนมจีนร่วมกับชาวบ้านด้วย เพื่อเป็นการสืบสานประเพณี และปลุกจิตสำนึกให้คนท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น และยังเป็นการส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นได้เกิดความรัก ความสามัคคี และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับชุมชนด้วย