xs
xsm
sm
md
lg

อันตราย!! พบ “ขนมจีน” ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน ชง อย.บังคับออกฉลาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคตรวจ “ขนมจีน” พบใส่สารกันบูดทุกยี่ห้อ ชี้เกินกว่ามาตรฐาน อย. กำหนดถึง 17% เสี่ยงพิษฉับพลันและเรื้อรัง ตับ ไต ทำงานลดลง ถึงขั้นเสียชีวิต ชง อย. บังคับผู้ประกอบการออกฉลาดชัดใส่สารกันบูดหรือไม่ ด้าน อย. ยันขนมจีนในภาชนะบรรจุต้องมีฉลาก หากไม่ติดฉลากมีโทษปรับ 30,000 บาท

วันนี้ (8 มี.ค.) น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการสุ่มตรวจขนมจีนเพื่อหาสารกันบูดตกค้าง ว่า จากการตรวจสอบเส้นขนมจีนทั้งหมด 12 ยี่ห้อ ตามแหล่งซื้อต่างๆ พบว่า ทุกยี่ห้อมีการใส่สารกันบูด ไม่เกินมาตรฐาน 10 ยี่ห้อคิดเป็นร้อยละ 83.33 เกินมาตรฐานกว่าที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 กำหนดคือ อาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน ต้องมีค่ามาตรฐานของสารกันบูด หรือกรดเบนโซอิกไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (มก./กก.) จำนวน 2 ยี่ห้อ คือ ขนมจีนตราดาวจากตลาดยิ่งเจริญ มีสารกันบูดมากถึง 1,121.37 มก./กก. และขนมจีนไม่มียี่ห้อจากตลาดสะพานขาว มีสารกันบูดอยู่ที่ 1,115.32 มก./กก. ทั้งนี้ ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเกินกว่า 5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. นั่นคือ หากมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 45 กก. ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 45x5 = 225 มก.ต่อวัน

“ที่น่าห่วงคือ ในแต่ละวันเราไม่ได้รับสารกันบูดจากขนมจีนเพียงอย่างเดียว แต่อาหารรอบตัวล้วนมีใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีการใส่มากน้อยแค่ไหน เช่น เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำอัดลม เนื้อสัตว์อย่างไส้กรอก ไวน์ หรือแม้กระทั่งชีส ซึ่งการรับสารกันบูดมากเกินไปนั้นจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย คือ 1. พิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับปริมาณสูง เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก และหมดสติในที่สุด 2. พิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดในปริมาณไม่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดการเป็นมะเร็งลำไส้ได้ นอกจากนี้ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตับและไตลดลง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แนะนำให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ได้ข้อแนะนำ คือ ให้รับประทานอาหารที่หลากหลาย ไม่ซ้ำกัน เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของสารพิษตกค้าง เลี่ยงอาหารปรุงสำเร็จ เป็นต้น” น.ส.มลฤดี กล่าว

น.ส.มลฤดี กล่าวว่า สารกันบูดสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน อย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวจะผ่านการลวกก่อนรับประทาน แต่ขนมจีนมักจะนำมารับประทานเลย ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่า ทั้งนี้ ควรเลือกซื้อขนมจีนที่สด สะอาด ซึ่งสามารถดูได้จากสี ซึ่งขนมจีนทำจากข้าวขาวจะมีสีขาว หากทำจากข้าวกล้องจะมีสีน้ำตาล ซึ่งขนมจีนที่ทิ้งไว้นานสีจะเริ่มขุ่นออกสีเหลือง และมีไอน้ำขึ้น ถือว่าเป็นขนมจีนที่ทิ้งไว้นานหลายวัน

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขนมจีนเป็นอาหารทั่วไปที่ไม่ต้องจดแจ้ง เว้นกรณีเปิดเป็นโรงงาน ทั้งนี้ มูลนิธิจะนำผลการตรวจสอบนี้ยื่นให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1. เสนอให้มีการจดแจ้ง หรือทำฉลากระบุชัดเจนว่ามีสารกันบูดหรือไม่ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้นำไปใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อ 2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดควรเข้าไปสนับสนุนหรือตรวจสอบโรงงานทำขนมจีน เพื่อยกระดับในการทำเส้นขนมจีนต่อไป 3. ขอให้ทาง อย. เร่งรัด พัฒนาระบบฐานข้อมูล รายงานผลการตรวจสอบต่าง ๆ ที่ อย. เคยตรวจมาแล้ว แก่สาธารณะ เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบรายงานความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหาร เช่น สหภาพยุโรปและมาเลเซีย

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร อย. กล่าวว่า ขนมจีนถือเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 367 พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งระบุชัดเจนว่าต้องแสดงฉลาก ยกเว้นอาหารในกลุ่ม หาบเร่ แผงลอย อาหารสดที่ไม่ผ่านกรรมวิธีใด ๆ หรือผ่านกรรมวิธีการแกะ ชําแหละ ตัดแต่งเพื่อลดขนาด และบรรจุในภาชนะที่สามารถมองเห็นสภาพของอาหารสดนั้นได้ และอาหารในภาชนะบรรจุที่ผลิตและจําหน่ายเพื่อบริการภายในร้านอาหาร โรงเรียน โรงพยาบาล และบริการจัดส่งอาหารให้กับผู้ซื้อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การบังคับอาจยังไม่เข้มงวดมากนัก แต่จะทำหนังสือให้ สสจ. เข้มงวดกับผู้ประกอบการขนมจีน ต้องติดฉลากอาหารด้วย โดยต้องระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ หรือผู้นําเข้า ปริมาณ ส่วนประกอบที่สําคัญ วัตถุเจือปนอาหาร วัน เดือนและปี เป็นต้น หากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับ 30,000 บาท และหากมีการใส่สารอื่นใดที่เกินมาตรฐานกำหนด ถือเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับ 50,000 บาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น