xs
xsm
sm
md
lg

รับสภาพ! แล้งหนัก “บึงสีไฟ” แห้งขอด 90%-เล็งสูบน้ำน่านเข้า แต่เติมได้แค่จุดท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - ผู้ว่าฯ เมืองชาละวันยอมรับ “บึงสีไฟ” แหล่งน้ำใหญ่อันดับ 3 ของประเทศวันนี้แห้งขอดกว่า 90% แล้ว ช่องทางน้ำเข้าในอดีตถูกบุกรุกปิดเกือบหมด เตรียมจับมือมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสูบน้ำน่านผ่านคลองไผ่สีรุณ หล่อเลี้ยงจุดท่องเที่ยว-สวนสมเด็จย่า ที่เหลือต้องปล่อยตามสภาพ

นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งของ จ.พิจิตรว่าส่งผลกระทบถึงบึงสีไฟ แหล่งน้ำใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ เนื้อที่ 5,300 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสวนสมเด็จย่า ขณะนี้น้ำแห้งขอดไปกว่า 90% แล้ว

ล่าสุดประชุมร่วมกับ พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้ประสานงานกองทัพบกและเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ รวมถึงสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. พบว่าบึงสีไฟในอดีตมีทางน้ำเข้าถึง 8 ทาง แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกปิดช่องทางน้ำเข้า ขณะนี้มองเห็นแค่เพียง 3 ช่องทางที่จะเติมน้ำเข้าบึงสีไฟได้ คือ

1. ขอรับน้ำจากเขื่อนนเรศวรเข้ามาตามคลอง C1 ของ ชป.ดงเศรษฐี แต่คงทำได้ยากเพราะน้ำต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล

2.ต้องหวังพึ่งแม่น้ำยม ซึ่งเป็นเรื่องอนาคต โดยมีแนวคิดจะทดน้ำจากแม่น้ำยมให้ไหลเข้าแม่น้ำพิจิตรเก่า แล้วส่งต่อเข้าบึงสีไฟ แต่ปัญหาก็คือมีชุมชนบุกรุกอยู่อาศัยเต็มสองฝั่งแม่น้ำพิจิตรเก่า ทำได้ แต่ต้องใช้เวลาหลายปีคงไม่ทันการณ์

3. หวังน้ำจากแม่น้ำน่านที่มีประตูน้ำบ้านดงเศรษฐี ต.ย่านยาว อ.เมืองพิจิตร ที่สร้างไว้เมื่อ 20 ปีก่อน ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท โดยกรมโยธาธิการ ปัจจุบันส่งมอบให้กรมทรัพยากรน้ำภาค 9 พิษณุโลก เป็นผู้ดูแล แต่ความเป็นจริงเป็นเพียงอนุสรณ์โบราณสถาน เพราะไม่เคยใช้งานมาก่อนเลย

โดยจุดนี้ถ้าจะเติมน้ำเข้าบึงสีไฟต้องจัดหางบประมาณหลายสิบล้านบาทมาซ่อมแซมจึงจะสูบน้ำจากแม่น้ำน่านเข้าแม่น้ำพิจิตรเก่า หรือคลองชลประทาน C1 ผันน้ำต่อเข้าคลอง ชป.C67 เพื่อให้น้ำเข้าบึงสีไฟ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายในที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า แหล่งน้ำที่ใกล้บึงสีไฟมากที่สุดคือ แม่น้ำน่าน ที่บริเวณบ้านสวนแตง ต.ฆะมัง อ.เมืองพิจิตร ที่มีคลองไผ่สีรุณ เชื่อมแม่น้ำน่านกับบึงสีไฟ มีความลาดเอียงประมาณ 2 เมตรเศษ ซึ่งถ้าจะเติมน้ำเข้าก็ต้องสูบน้ำจากแม่น้ำน่านให้ไหลย้อนเข้าบึงสีไฟ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในวิธีการข้อนี้

โดยจะสูบน้ำเข้ามาในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพันธุ์ปลา เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ พร้อมตั้งคันดินเพื่อกักเก็บน้ำเฉพาะจุดท่องเที่ยวนี้เท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ คงต้องยอมปล่อยให้เป็นไปตามสภาพของภัยแล้ง เนื่องจากน้ำมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถที่จะทำให้มีน้ำเข้าบึงสีไฟทั้งหมดได้

สำหรับแผนเติมน้ำเข้าบึงสีไฟสร้างทัศนียภาพสวนสมเด็จย่าจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยทีมงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์จะนำเครื่อง GPS แบบละเอียด วัดค่าระดับความสูงต่ำในแต่ละจุดของบึงเพื่อทำทางให้น้ำไหลมายังบริเวณศาลากลางบึง พร้อมกับสำรวจหาแนวทำคันกั้นน้ำในบึงสีไฟเพื่อจะควบคุมระดับน้ำในจุดท่องเที่ยวให้สวยงามต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น