xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสะเอียบเตรียมนำโมเดลจัดการน้ำอย่างเป็นระบบใช้ภูมิปัญญาอิงงานวิจัยเสนอรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ชาวสะเอียบเตรียมเสนอโมเดลจัดการน้ำอย่างเป็นระบบต่อภาครัฐ ฝ่าวิกฤตน้ำแล้งลุ่มน้ำยม ภายใต้งานวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร ชาวบ้านพร้อมระดมความคิดจัดการน้ำแบบของชุมชนฟื้นฟูต้นน้ำ สร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการร่วมกัน

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า จากกรณีที่ชาว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ออกมาแสดงบทบาทคัดค้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำยมอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำของลุ่มน้ำยม โดยเชื่อว่าภาครัฐไม่จริงใจในการแก้ไข แต่ต้องการสร้างโครงการให้มีการใช้งบประมาณมาก ๆ เป็นแผนงานที่นำไปสู่แนวทางทุจริตในวงราชการในอนาคต และเมื่อโครงการเสร็จก็ไม่สามารถตอบโจทย์ความแห้งแล้งในลุ่มน้ำได้ ทำให้ชาวสะเอียบประกาศห้ามบุคคลที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนทุกรูปแบบเข้าพื้นที่มานานกว่า 6 เดือนแล้ว

ล่าสุด ได้รับการเปิดเผยจาก นายสมมิ่ง เหมืองร้อง คณะกรรมการต่อต้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ในขณะที่ชาวสะเอียบออกมาต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐนั้น ภายในหมู่บ้านเองก็มีการศึกษาคิดค้นวิธีการกักเก็บน้ำในแต่ละลำห้วยย่อยเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตรของตนเองและเหลือเผื่อให้กับคนทั้งลุ่มน้ำ จนกลายเป็นแผนบริหารจัดการน้ำที่ชาวบ้านร่วมกันคิดขึ้นจากประสบการณ์ของตนเอง

โดยดูในเขตตำบลสะเอียบ มีลำห้วยสาขาจำนวนกี่ลำห้วย จะใช้วิธีกักเก็บอย่างไร จะผันน้ำมาใช้ในฤดูแล้งเพื่อทำการเพาะปลูกอย่างไร และทำอย่างไรให้น้ำเหล่านั้นสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่า ตลอดจนการคืนพื้นที่ส่วนการเกษตรเข้ามาเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น

แนวทางของชาวสะเอียบที่คิดเป็นแผนบริหารจัดการน้ำกลายเป็นแผนงานที่ไม่มีหน่วยงานได้รับรอง หรือเรียกว่าแผนจัดการน้ำเถื่อนก็ว่าได้ ดังนั้น ในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ชาวสะเอียบจะร่วมกับนักวิจัย ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ทำการวิจัย โดยคิดจากเวทีประชาคมน้ำที่จังหวัดพิษณุโลกช่วงที่มีการปฏิวัติใหม่ ๆ นำมาสู่แผนของชาวบ้าน เป็นทางออกการจัดการน้ำได้จริงหรือไม่ จะถูกนำเข้าสู่การวิจัยงานบริหารจัดการน้ำ โดย นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ จะเข้ามาร่วมเป็นประธาน และรับฟังข้อเท็จจริง ซึ่งจะทำให้วิธีคิดแนวทางของชุมชนจัดการน้ำมีการยอมรับด้วยผลของการวิจัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว สภาพทั่วไปของลุ่มน้ำยมเริ่มเผชิญกับความแห้งแล้งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เนื่องจากปริมาณการกักเก็บที่มีน้อย แม้ปริมาณน้ำจะมีผ่านมาในฤดูฝนเป็นจำนวนมหาศาลก็ตามที ซึ่งปัญหาความขัดแย้งทำให้โครงการพัฒนาทุกแบบแม้แต่ของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ก็ยังต้องหยุดไปโดยปริยาย การเปิดแนวทางเจรจาใหม่ในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสของชาวแพร่และชาวสะเอียบที่จะมีบทบาทบริหารจัดการน้ำของตนเอง และเพื่อคนส่วนใหญ่ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น