ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - มือฉมังแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระดับชาติชี้ภาพรวมตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยไทยในปี 2559 ทรงตัว ขณะที่ผู้บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระบุข้อบังคับผังเมืองเชียงใหม่เป็นตัวปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติม คาดตลาดกลับมาขยายตัวอีกครั้งช่วงปี 2561-2562 หลังจากบ้านและคอนโดฯ ที่รอการขายอยู่ในปัจจุบันถูกซื้อไปเกือบหมด แต่โครงการพัฒนาใหม่จะมีต้นทุนเพิ่มอย่างน้อย 15%
วันนี้ (27 ม.ค. 59) สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทโฮมบายเออร์ไกด์ (เชียงใหม่) จำกัด จัดการเสวนาเปิดตัวโครงการอบรม “Real Engineering CMU” รุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยจัดการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางอสังหาริมทรัพย์ ปี 2559 บนความเปลี่ยนแปลง” ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในการเสวนาเกี่ยวกับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอสังหาริมทรัพย์ไทยว่า ภาพรวมในปี 2559 ไม่น่าจะแตกต่างไปจากปี 2558 มากนัก โดยยังอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการสำรวจตรวจสอบและปรับปรุงองค์กรให้มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยยังคงเป็นความจำเป็นพื้นฐานของทุกคนและมีความต้องการอยู่ตลอด ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อของลูกค้านั้น ขึ้นอยู่กำลังความสามารถในการจ่ายหรือผ่อนชำระของตัวเอง และที่ตั้งที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต เช่น ใกล้ที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนลูก เดินทางสะดวก เป็นต้น ซึ่งเป็นโจทย์สำหรับผู้ประกอบการในการพิจารณาทำเลที่ตั้งที่จะลงทุนโครงการ
นายไพศาล ภู่เจริญ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มอรสิริน ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นถึงแนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดเชียงใหม่ในการเสวนาว่า ปัจจุบันการประกาศบังคับใช้ผังเมืองถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มเติม เพราะมีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย เช่น ในเขตเมืองไม่สามารถก่อสร้างอาคารหรือคอนโดมิเนียมสูงเกิน 12 เมตรได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ณ กลางปี 2558 เชียงใหม่มีคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างรอขายประมาณ 3,900 หน่วย โดยที่ยังไม่นับรวมโครงการที่ได้รับใบอนุญาตแล้วแต่ยังไม่ก่อสร้างอีกประมาณ 2,000 หน่วย ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้น่าจะถูกขายหมดในปี 2561 หรืออย่างช้าในปี 2565 เช่นเดียวกับโครงบ้านจัดสรรที่เหลืออยู่รอการขายที่น่าจะถูกขายหมดในปี 2561 หรืออย่างช้าในปี 2564
โดยจากแนวโน้มดังกล่าวเชื่อว่าในช่วงประมาณปี 2561-2562 จะเป็นช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเชียงใหม่กลับมามีการขยายตัวมากอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าอย่างช้าในปี 2562 จะต้องมีการขยับซื้อที่ดินเพื่อทำการพัฒนาโครงการใหม่เพิ่มอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นและมีผลต่อราคาซื้อขายที่เพิ่มมากขึ้นด้วยอย่างน้อย 15%