xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตหนักรอบ 10 ปี เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้ได้แค่ 6% ห้ามทำนาปรังเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แล้งนี้วิกฤตหนักในรอบ 10 ปี เขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การได้แค่ร้อยละ 6 จากน้ำที่เหลือกักเก็บ หวั่นภาคการเกษตรเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง เร่งรณรงค์งดทำนาปรังเด็ดขาด ปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ขณะเดียวกันเดินหน้าสนับสนุนโครงการเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง

นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ในขณะนี้ว่า มีปริมาณกักเก็บอยู่ประมาณ 707 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่าง โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงเพียง 125 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของปริมาณน้ำที่ใช้งานได้จริง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ทางเขื่อนอุบลรัตน์ต้องลดการระบายลง จากเดิมระบายวันละ 8 แสนลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันระบายเหลือวันละ 5 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นการรักษาสภาพนิเวศของลำน้ำพอง

ระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันถือว่ามีปริมาณต่ำสุดในรอบ 10 ปี จังหวัดขอนแก่นจึงได้ขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้วอย่าได้ปลูกข้าวนาปรังเพราะจะเสี่ยงต่อความเสียหายจากภัยแล้ง โดยได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นมุ่งเน้นแนะนำเกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นที่มีลู่ทางการตลาดดีทดแทนข้าวนาปรังและต้องเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การเพาะปลูกพืชผลเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรในภาพรวม เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชใช้น้ำน้อยอื่นๆ

นอกจากนี้ ทางจังหวัดขอนแก่นยังได้สนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค เป็นแหล่งน้ำสะอาดใช้ในการผลิตน้ำประปาให้แก่หมู่บ้านได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการกรองและบำบัดน้ำของระบบประปาด้วย และยังจัดหน่วยซ่อมระบบประปา ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ และหอถังที่ชำรุด พร้อมทั้งเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลให้สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์

ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนโครงการเจาะน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยเจาะน้ำบาดาลและก่อสร้างบ่อพร้อมระบบกระจายน้ำไปแปลงเกษตร ซึ่งเกษตรกรสามารถสูบน้ำจ่ายไปยังแปลงเกษตรจากเครื่องสูบน้ำแบบเทอร์ไบน์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลนำไปติดตั้งให้ ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตรถึง 50 ไร่ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้จุนเจือครอบครัวจากการเพาะปลูกตลอดทั้งปี

เช่น พื้นที่ใน อ.ภูเวียง ที่บ้านสงเปือย หมู่ 1 ก็เป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น