บุรีรัมย์ - เกษตรกรหมู่บ้านท้ายอ่างเก็บน้ำบุรีรัมย์ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หันมาปลูกพืชผักสวนครัวใช้น้ำน้อยในพื้นที่ว่างรอบบ้านเรือนไว้บริโภคและขายเป็นรายได้เสริมช่วงหน้าแล้ง หลังชลประทานงดปล่อยน้ำทำนาปรัง หวั่นน้ำไม่เพียงพอผลิตประปา
วันนี้ (5 ม.ค.) เกษตรกรบ้านโคกสะอาด ม.11 ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เกือบทุกหลังคาเรือนได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หันมาปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่ว่างรอบบ้านเรือนของตัวเอง เช่น พริก มะเขือ ผักชี ต้นหอม แตงกวา ฟักทอง และพืชผักชนิดอื่นที่มีระยะเวลาการปลูกสั้นและใช้น้ำน้อย เพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน และนำไปขายตามตลาดใกล้บ้านเป็นรายได้เสริมในช่วงหน้าแล้ง
หลังจากทางโครงการชลประทานจังหวัดได้งดปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเหลือน้อยหวั่นไม่เพียงพอผลิตประปาบริการประชาชนในเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ และผู้ประกอบการในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ประกอบกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มแห้งขอด เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อสู้กับวิกฤตภัยแล้ง
โดยเกษตรกรต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐโดยการงดทำนาปรังแล้วหันมาลูกพืชผักสวนครัวแทน ถึงแม้จะมีรายได้จากการเก็บผลผลิตส่งขายวันละ 200-300 บาท แต่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้หากยึดหลักความพอเพียง ทั้งยังช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ในช่วงหน้าแล้งอีกด้วย
นายสังข์ทอง กิมรัมย์ และนางวันดี สายสุวรรณ เกษตรกรบ้านโคกสะอาด บอกว่า หลังจากทางชลประทานจังหวัดได้ประกาศงดปล่อยน้ำให้ทำนาปรัง เกษตรกรในเขตบริการหลายหมู่บ้านต่างก็ให้ความร่วมมือและได้หันมาปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยตามพื้นที่ว่างในครัวเรือนแทน
อย่างไรก็ตาม อยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐได้ช่วยเหลือสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ให้แก่เกษตรกร เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตในอีกทางหนึ่งด้วย