บุรีรัมย์ -เกษตรกรในเขตบริการโครงการชลประทาน จ.บุรีรัมย์ ยังเสี่ยงทำนาปรัง แม้ชลประทานจะงดปล่อยน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้ผลิตประปา เผยจำเป็นเพราะไม่ต้องการปล่อยพื้นที่วางเปล่า วอนภาครัฐ สนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชอายุสั้น สร้างรายได้เสริมหลังงดทำนาปรังมานานถึง 3 ปี
วันนี้ (15 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจการทำนาปีในพื้นที่เขตบริการ โครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่ายังมีเกษตรกรหลายรายในเขตบ้านบุและบ้านม่วงใต้ ตำบลบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เสี่ยงที่จะลงทุนไถและปรับพื้นที่เพื่อเตรียมทำนาปรัง แม้ที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานและกลุ่มผู้ใช้น้ำจะมีมติร่วมกันในการงดปล่อยน้ำเพื่อการทำนาปรังในปีนี้แล้วก็ตาม โดยให้เหตุผลว่าต้องการเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในการผลิตประปาบริการประชาชนและเขตเศรษฐกิจสำคัญ
นายจตุพร อาบรัมย์ เกษตรกรซึ่งทำนาปรังเผยว่า สาเหตุที่ต้องยอมเสี่ยงเพราะไม่ต้องการปล่อยที่นาให้ว่างเปล่า แม้ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาด้านราคาข้าวตกต่ำ และการงดส่งน้ำในการทำนาปรังของสำนักงานชลประทานติดต่อกันนานถึง 3 ปี จนทำให้ขาดรายได้ก็ตาม
ขณะเดียวกันก็ได้ร้องขอไปยังหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชอายุสั้น เช่น ถั่วลิสง ถั่วเขียว ข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนการทำข้าวนาปรังเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงหน้าแล้ง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เกษตรกรในเขตพื้นที่บริการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์จะทำนาปรังประมาณ 2-3 หมื่นไร่ ขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ที่กักเก็บไว้ขณะนี้จะเหลือประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณความจุอ่างทั้งหมดจำนวน 26 ล้านลูกบาศก์เมตร
ด้านนางลำพวง ประทีปรัมย์ เกษตรกรอีกรายบอกว่า สำนักงานชลประทานจังหวัดได้งดปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาปรังมา 3 ปีติดต่อกันแล้ว เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างฯ เหลือน้อยจึงเกรงจะไม่เพียงพอใช้ผลิตประปา ทำให้เกษตรกรบางรายหันไปทำงานรับจ้าง ขณะที่บางรายเลือกที่จะปลูกผักในครัวเรือนของตนเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว
จึงวอนไปยังหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยสนับสนุนเมล็ดพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยเพื่อให้เกษตรกรปลูกทดแทนการทำนาปรัง พร้อมจัดหาตลาดให้ขายพืชผลเพื่อให้มีรายได้เสริม