บุรีรัมย์ - สำนักชลประทานที่ 8 จ.บุรีรัมย์ สั่งปิดประตูระบายน้ำฝายยางทั้ง 5 แห่งเพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งนี้ หลังพบว่าน้ำมูลมีระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมากว่า 1 เมตร พร้อมร้องขอให้เกษตรกรอยู่ริมน้ำมูลงดทำนาปรัง
วันนี้ (17 ธ.ค. 58) นายคำรณ เตียตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง สำนักงานชลประทานที่ 8 ตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลในเขตพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ มีความยาวกว่า 280 กิโลเมตร ว่าปีนี้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูลระดับกักเก็บต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเฉลี่ยกว่า 1 เมตร เนื่องจากปีนี้มีปริมาณฝนตกน้อยทำให้มีน้ำในลำน้ำมูลน้อยตามไปด้วย
ทางสำนักงานโครงการและบำรุงรักษามูลกลางเกรงว่าปีนี้จะเกิดวิกฤตภัยแล้งในช่วงหน้าแล้งนี้ ซึ่งจะทำให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จึงได้สั่งให้ปิดประตูระบายน้ำฝายยางทั้ง 5 แห่งแล้ว พร้อมทำหนังสือถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีพื้นที่ติดลำน้ำมูล ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนและเกษตรกรที่อยู่ตามริมสองฝั่งลำน้ำมูลทั้ง 3 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ได้งดทำนาปรังและหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพราะเกรงว่าหากเกษตรกรทำนาปรังแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหาย น้ำที่กักเก็บตามฝายต่างๆ ทั้ง 5 แห่งที่โครงการส่งน้ำฯ รับผิดชอบจะขาดน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคบริการประชาชนที่อาศัยอยู่ตามลำน้ำได้
นายคำรณกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการสร้างฝายยางกักเก็บน้ำมูล 2 แห่ง คือ ที่บริเวณกุดชุมแสง ต.ยะวึก อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ และบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์นั้น จากการประสานกับกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางทราบว่าที่ ต.ยะวึก ได้รับงบประมาณในปี 2559 มาแล้ว
ส่วนฝายยาง ต.ท่าม่วง อยู่ระหว่างรองบประมาณเพิ่มเติม ปี 2559 ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 แห่งก็อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหากมีการก่อสร้างฝายยางทั้งสองแห่งแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้านเกษตรกรได้เป็นอย่างดี