xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 4 อำเภอริมน้ำมูลงดทำนาปรัง ลดเสี่ยงแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - ผอ.มูลกลางเตือนเกษตรกร 4 อำเภอริมมูลงดทำนาปรังหรือพืชที่ใช้น้ำมากเพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ทั้งหวั่นกระทบน้ำอุปโภคบริโภค เนื่องจากระดับน้ำมูลยังต่ำทั้งไม่มีฝายหรือเขื่อนยางกักเก็บน้ำ ขณะกรมชลฯ มีแผนสร้างฝายกักเก็บน้ำมูล 2 แห่งที่บุรีรัมย์ในปี 59 และปี 60 แก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก

วันนี้ (22 ก.ย. 58) นายคำรณ เตียตระกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ออกมาระบุถึงสถานการณ์น้ำในน้ำมูลในพื้นที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไหลผ่าน จ.บุรีรัมย์ ไปจนถึง จ.สุรินทร์ รวมระยะทางกว่า 300 เมตร ปัจจุบันมีน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง 2 เมตร

ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่หากเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันกับปี 2556 ปีนี้น้ำมูลยังมีระดับต่ำกว่า 2 เมตร จึงได้แจ้งเตือนให้เกษตรกรในพื้นที่ 4 อำเภอที่ จ.บุรีรัมย์ มี อ.พุทไธสง คูเมือง แคนดง และ อ.สตึก ที่อาศัยน้ำมูลในการทำการเกษตร ได้งดทำนาปรังหรือพืชที่ใช้น้ำมาก เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยงผลผลิตเสียหาย ทั้งลดผลกระทบในการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้งที่จะถึงนี้อีกด้วย

เนื่องจากในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ไม่มีฝายหรือเขื่อนยางกักเก็บน้ำมูลที่ไหลผ่านในช่วงหน้าฝนหรือฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้ประสบปัญหาน้ำมูลตื้นเขินแห้งขอดเป็นประจำทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาสำรวจก่อสร้างฝายหรือเขื่อนยางมานานกว่า 10 ปีแล้ว

ซึ่งทราบว่าทางกรมชลประทานก็ได้มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างฝายยางกักเก็บน้ำมูล 2 แห่ง คือ บริเวณกุดชุมแสง ต.นิคม และ บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก ในปี 2559 และ ปี 2560 เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก

ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลกลาง สำนักงานชลประทานที่ 8 ยังระบุอีกว่า ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.สุรินทร์ มีฝายยางในการกักเก็บน้ำมูลอยู่จำนวน 6 แห่ง แต่ที่ จ.บุรีรัมย์ ที่น้ำมูลไหลผ่านรวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ยังไม่มีฝายกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำมูลประสบปัญหาตื้นเขินแห้งขอดเป็นประจำทุกปี

แต่หากมีการสร้างฝายยางทั้งสองแห่งในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งให้ชาวบ้านเกษตรกรได้เป็นอย่างดี



กำลังโหลดความคิดเห็น