xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแต่ต้นปี! “น้ำมูล” บุรีรัมย์แห้งตื้นเขินตอม่อสะพาน-สันดอนทรายโผล่ เดือดร้อนถ้วนหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แม่น้ำมูล เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอีสาน ไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์เริ่มวิกฤต ตื้นเขินแห้งขอดเร็วผิดปกติตั้งแต่ต้นปี จนเห็นตอหม้อสะพานและสันดอนทรายโผล่ บางจุดสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้ วันนี้ (7 ม.ค.)
บุรีรัมย์-“แม่น้ำมูล” เส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงอีสาน ไหลผ่าน อ.สตึก บุรีรัมย์เริ่มวิกฤต ตื้นเขินแห้งขอดเร็วผิดปกติตั้งแต่ต้นปี จนเห็นตอม่อสะพานและสันดอนทรายโผล่บางจุดสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาได้ แม้ปีนี้เกษตรกรงดทำนาปรังก็ตาม ส่งผลกระทบผู้เลี้ยงปลากระชังและวิถีชีวิตชาวประมง เดือดร้อนไม่สามารถหาปลาบริโภคและขายได้เนื่องจากปลาธรรมชาติเริ่มหดหาย

วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์เริ่มคุกคามตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยเฉพาะน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านบริเวณสะพานข้ามลำน้ำมูลระหว่าง บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก กับ ต.ท่าตูม อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และประกอบอาชีพการประมง ทั้งหาปลา และเลี้ยงปลาในกระชัง ขณะนี้มีสภาพตื้นเขินแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วผิดปกติ โดยระดับน้ำได้ลดลงตั้งแต่ต้นปีจากปกติทุกปีที่ผ่านมาจะลดลงช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน

จากระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้มีสภาพตื้นเขินจนมองเห็นตอม่อสะพาน และบางจุดแห้งขอดจนสันดอนทรายโผล่ จนชาวบ้านสามารถเดินข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้ถึงแม้ปีนี้เกษตรกรริมลำน้ำมูลจะงดทำนาปรังแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำมูลก็ยังลดเร็วกว่าปกติ

จากกรณีดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และเกษตรกรหลายหมู่บ้านที่อาศัยอยู่สองฟากฝั่งแม่น้ำมูล โดยเฉพาะผู้มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าเรือ ต้องหยุดเลี้ยงชั่วคราวเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ก็มีบางรายที่ยอมเสี่ยงเลี้ยงเนื่องจากไม่มีอาชีพอื่นรองรับ เพราะนาปรังก็ทำไม่ได้

ส่วนชาวบ้านที่เคยอาศัยน้ำมูลหาปลาตามธรรมชาติเพื่อประทังชีวิต และส่งขายตามตลาด ปัจจุบันก็ไม่สามารถหาปลาได้ เนื่องจากปลาตามธรรมชาติเริ่มหดหายสูญพันธุ์ เหลือเพียงปลาขนาดเล็กหรือลูกปลาเท่านั้น

นายสุพล ธารินทร์รัมย์ ชาวบ้านที่มีอาชีพหาปลาบริโภคและส่งขาย บอกว่า ปีนี้น้ำในลำน้ำมูลได้ตื้นเขินและแห้งขอดเร็วกว่าทุกปี จากปกติทุกน้ำมูลจะแห้งประมาณปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายน แต่ปีนี้ลดลงตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทั้งๆ ที่เกษตรกรก็ไม่ได้สูบน้ำไปทำนาปรัง

จากสภาพน้ำที่ตื้นเขินทำให้ไม่สามารถหาปลาได้เหมือนที่ผ่านมา จากปกติเคยหาได้วันละหลายกิโลกรัม นำไปขายมีรายได้วันละ 300-500 บาท แต่ปัจจุบันจะหาปลาไปบริโภคก็แทบจะไม่ได้ ทั้งปลาก็มีขนาดตัวเล็กลงหรือมีเพียงลูกปลาเท่านั้น จากเมื่อก่อนเคยจับได้น้ำหนักตัว 6-7 กิโลกรัม

ด้าน นายเปี่ยม เยี่ยมรัมย์ ชาวบ้านบ้านท่าเรือ ต.ท่าม่วง อ.สตึก บอกว่า ปีนี้น้ำมูลตื้นเขินแห้งขอดลงเร็วมาก จนมองเห็นตอม่อสะพานและสันดอนทรายโผล่ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านบ้านท่าเรือที่ต้องอาศัยน้ำในลำน้ำมูลหาปลา และเลี้ยงปลากระชังไม่สามารถเลี้ยง ต้องปล่อยกระชังทิ้งร้าง จากเดิมเคยเลี้ยงมากกว่า 30 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 2 ราย จึงอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐเร่งเข้ามาสร้างเขื่อนยาง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและเกษตรกรด้วย



ป. ปลา นั้นหายาก



กำลังโหลดความคิดเห็น