กาฬสินธุ์ - เจ้าของโรงงานปลาร้ากาฬสินธุ์โต้สื่อโซเชียลฯ แชร์ภาพงู อึ่งอ่าง ผลิตน้ำปลาร้า บิดเบือน พร้อมเปิดโรงงานนำพ่อเมืองกาฬสินธุ์ หน่วยงานรัฐ สื่อมวลชน ตรวจสอบกระบวนการผลิต หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ระบุภาพที่ถูกแชร์ต่อในโลกออนไลน์เป็นภาพที่ถ่ายจากบ่อทิ้งของเสีย
จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เข้าตรวจค้นหาโรงงานผลิตปลาร้าที่บ้านเลขที่ 59 ม.3 บ้านท่าเรือ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ พร้อมกับยึดน้ำปลาร้าบรรจุขวดปิดสนิท ขนาด 400 มิลลิลิตร ซึ่งฉลากระบุรายละเอียดน้ำปลาร้า ตรากาฬสินธุ์ (แม่อ้อยลำปาว) และมีสัญลักษณ์เครื่องหมาย อย. แต่ไม่ได้ระบุเลขสารระบบอาหารบนฉลาก จำนวน 8,000 แพ็ค หรือ 96,000 ขวด พร้อมแจ้งข้อหาไม่ขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร และแสดงสลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขที่ อย.เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2559 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งมีผู้ถ่ายภาพซากปลา งู อึ่งอ่าง เศษเหล็ก ในบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ต้มแล้ว หรือบ่อเก็บของเสียไปโพสต์ในเฟซบุ๊กจนมีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและขาดความเชื่อมั่นในความสะอาด ส่งผลต่อผู้ประกอบการโรงงานดังกล่าว ตลอดจนผู้ประกอบการโรงงานและกลุ่มผู้ผลิตปลาร้าทั่วภาคอีสานต้องหยุดชะงักทันที
ล่าสุดวันนี้ (12 ม.ค.) นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายเลิศบุศย์ กองทอง ปลัดจังหวัดกาฬสินธุ์, นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, นายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอยางตลาด พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำสื่อมวลชนทุกแขนง ลงพื้นที่พิสูจน์สถานที่โรงงานผลิตปลาร้าที่น่าสะพรึงกลัวในโลกออนไลน์
จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่จับและตรวจยึดน้ำปลาร้าจำนวน 8,000 แพก หรือ 96,000 ขวด เนื่องจากไม่ขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหาร และแสดงสลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขที่ อย. ส่วนภาพถ่ายที่มีซากปลา งู อึ่งอ่าง เศษเหล็ก ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์นั้น เป็นภาพที่ถ่ายจากบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ต้มแล้ว หรือเป็นบ่อเก็บของเสียที่รอการเอาไปทำปุ๋ย และรอการกำจัดอย่างถูกวิธี
นายวินัย วิทยานุกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากข่าวจับและยึดน้ำปลาร้าของโรงงานปลาร้ากาฬสินธุ์ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตตั้งโรงงานและแสดงสลากไม่ถูกต้อง หรือไม่มีเลขที่ อย. ที่สำคัญมีการถ่ายภาพซากสัตว์ต่างๆ ออกสื่อและแชร์กันไปอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ จนสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนผู้บริโภคนั้น เรื่องดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการแล้วยังส่งผลกระทบไปยังโรงงานและกลุ่มผู้ผลิตน้ำปลาร้าในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และทั่วภาคอีสาน ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในขบวนการผลิต วันนี้จึงได้นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนทุกแขนงลงพื้นที่พิสูจน์ความจริง พบว่าโรงงานดังกล่าวขั้นตอนการผลิตมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเหมือนกับโรงงานอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ มีการแยกสัดส่วนการผลิตที่ชัดเจน เพียงแต่ไม่ได้ขออนุญาตเท่านั้น ส่วนภาพที่ออกไปเป็นภาพถ่ายจากบ่อทิ้งกากปลาร้าที่ใช้เก็บของเสียซึ่งไม่ได้นำกากเหล่านี้ไปต้ม
นายวินัยกล่าวอีกว่า ยืนยันว่าน้ำปลาร้าใน จ.กาฬสินธุ์ มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและยังสามารถรับประทานได้ตามปกติ แต่ภาพที่เผยแพร่ออกไปเป็นการถ่ายภาพโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานปลาร้าทุกแห่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อให้ความรู้และแนะนำวิธี รวมถึงขั้นตอนการผลิต และการขออนุญาต เพื่อที่จะรักษาอาชีพที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานับพันปี จนสร้างรายได้ให้กับประชาชนให้คงอยู่และมีมาตรฐานต่อไป
ด้านนางนิพร ไวกูณฐอนุชิต อายุ 64 ปี เจ้าของกิจการปลาร้ากาฬสินธุ์ แม่อ้อยลำปาว กล่าวว่า ยืนยันว่าโรงงานถูกตำรวจชุดปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตำรวจภูธรภาค 4 และเจ้าหน้าที่สาธารสุข จ.กาฬสินธุ์จับ เนื่องจากไม่ขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตอาหารและไม่มีเลขที่ อย.เท่านั้น ซึ่งตนไม่ทราบมาก่อน แต่ก็ยอมรับผิด แต่รู้สึกเสียใจมากที่มีผู้ถ่ายภาพบ่อทิ้งของเสียที่มีภาพงู อึ่งอ่าง และซากปลา โดยไม่สอบถาม แล้วไปเผยแพร่ในโลกออน์ไลน์จนทำให้ผู้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการนำกากเหล่านั้นมาต้มเป็นน้ำปลาร้า
“เรื่องดังกล่าวนอกจากจะทุบไหปลาแดกคนอีสาน ทำให้พ่อค้า แม่ค้าปลาร้าอื่นๆได้รับผลกระทบแล้ว ยังเท่าเป็นการหลอกลวงคนทั้งประเทศด้วย ในความเป็นจริง ไม่มีใครที่จะต้มน้ำปลาร้าขายอย่างสกปรกและนำสัตว์เหล่านั้นมาต้มทำปลาร้า เพราะผู้ประกอบการที่ผลิตน้ำปลาร้าทุกรายถือว่าประชาชนที่บริโภคคือผู้มีพระคุณ” นางนิพรกล่าว