xs
xsm
sm
md
lg

สั่งปิดโรงงานปลาร้ากาฬสินธุ์ไม่ได้มาตรฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุดปราบปราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 บุกตรวจโรงงานทำน้ำปลาร้า ที่อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - ชุดปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจค้นโรงงานผลิตน้ำปลาร้ากาฬสินธุ์ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากได้รับร้องเรียนผลิตน้ำปลาร้าแสดงสลากไม่ถูกต้อง พร้อมยึดน้ำปลาร้าบรรจุขวดกว่า 96,000 ขวด

วันนี้ (8 ม.ค.) พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 มอบหมายให้ พล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รองผบช.ภ.4 พล.ต.ต.มาโนชญ์ ศาตนันท์พิพัฒน์ ผบก.ประจำภาค 4 นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตำรวจภูธรภาค 4 ร่วมกับเภสัชกรหญิงพรพิมล ภูวธนานนท์ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอยางตลาด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ตำรวจ สภ.นากุง นำหมายค้นเลขที่ 3/2559 ลงพื้นที่เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตน้ำปลาร้า เลขที่ 59 ม.3 ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ที่ตลาดศรีเมืองทอง ตลาดขายส่งสินค้าประเภทผัก และอาหารแห้งขนาดใหญ่ใน จ.ขอนแก่น มีสินค้าประเภทน้ำปลาร้าบรรจุขวดปิดสนิท ไม่มีเลข อย.วางขายอยู่จำนวนหลายร้าน ซึ่งแหล่งผลิตอยู่ในพื้นที่ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ จึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ

จากการตรวจค้นพบว่า โรงงานดังกล่าวมีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ มีคนงานประมาณ 40 คน ผลิตน้ำปลาร้าต้ม มีปีบบรรจุปลาร้า และอุปกรณ์ต้มปลาร้าจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบน้ำปลาร้าบรรจุขวดเพ็ตปิดสนิท ขนาด 400 มิลลิลิตร ซึ่งฉลากระบุรายละเอียดน้ำปลาร้า ตรากาฬสินธุ์ (แม่อ้อยลำปาว) และมีสัญลักษณ์เครื่องหมาย อย.แต่ไม่ได้ระบุเลขสารระบบอาหารบนฉลาก จำนวน 8,000 แพก หรือ 96,000 ขวด มูลค่ากว่า 1,000,000 บาท เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดไว้ตรวจสอบ

ทั้งนี้ มีนายอุดร สันเสนาะ อายุ 58 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโรงงานดังกล่าว และมีนางนิพร ไวกูณอนุชิต เป็นเจ้าของโรงงาน โดย นายอุดร รับสารภาพว่า ตนเป็นผู้ดูแลโรงงานดังกล่าว ซึ่งเปิดมาตั้งแต่ปี 2530 เริ่มจากเป็นโรงงานเล็กๆ ทำแบบธุรกิจครอบครัว ต่อมา ปี 2556 กิจการมีกำไรจึงขยายโรงงาน และจ้างคนงานประมาณ 40 คน โดยวิธีผลิตจะไปซื้อกากน้ำปลามาจากจังหวัดภาคตะวันออก ทั้ง จ.ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ โดยสั่งมาเฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 1,000 ปีบ

จากนั้นจะนำกากปลามาผสมกับปลาร้าแล้วต้มใส่หม้อ และนำน้ำปลาร้ามาพักให้เย็น ปรุงรสแล้วบรรจุใส่ขวดส่งขายทอดตลาดในราคาขวดละ 10 บาท เฉลี่ยมีรายได้วันละประมาณ 600,00 บาท สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ไปขายอยู่ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหาผลิตอาหารในภาชนะบรรจุเพื่อจำหน่ายโดยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมกับสั่งให้หยุดการผลิต และปิดโรงงานดังกล่าวจนกว่าจะดำเนินถูกต้องตามกฎหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น