นครพนม - เยือนหมู่บ้าน “ดินทองคำ” บ้านกลาง อ.อุเทน แม้มีปัญหาราคายางพาราตกต่ำหรือแม้ต้องหยุดกรีดยางก็ไม่เดือดร้อน มีกินมีใช้จากรายได้ขุดดินปั้นครกขาย ภูมิปัญญาอาชีพประจำถิ่นที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษยาวนานกว่า 100 ปี ปั้นได้เท่าไหร่ขายออกหมด
นับเวลากว่า 100 ปีมาแล้วที่ “นายแอ่ง-นายไห” บรรพบุรุษชาวบ้านกลาง หมู่ 1 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ได้ริเริ่มนำดินเหนียวในทุ่งนาท้ายหมู่บ้านสอนลูกหลานปั้นแอ่ง ปั้นไห ใส่น้ำ หมักปลาร้า ปลาแดก รวมทั้งภาชนะอื่นๆ ไว้ใช้ในครัวเรือนหรือไว้ใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ในยุคนั้น มาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ลูกหลานนายแอ่ง-นายไหได้พัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมจนกลายเป็นอาชีพทำเงินให้ชาวบ้าน
นั่นคือการขุดดินเหนียวมาปั้นครกขาย ทำง่าย ขายคล่อง เป็นคำตอบสุดท้ายในเรื่องของการทำมาหากินของชาวบ้านกลางในขณะนี้
นายเดชา สาหัส ชาวบ้านที่ยึดอาชีพปั้นครกดินขายรายหนึ่งของบ้านกลางเล่าว่า ชาวบ้านที่นี่จะมีหลายอาชีพเสริมกัน หลักๆ คือการทำนาปลูกข้าว ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ไว้กินไว้ขายตามวิถีชีวิตชุมชนคนอีสานทั่วไป ส่วนการทำสวนยางพาราหลายครัวเรือนก็เอาบ้างตามแฟชั่นฮิตในช่วง 5-10 ปีมานี่เอง
โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าหัวไร่ปลายนาปลูกยางพารากัน อย่างกรณีของตนก็มีสวนยางพาราพร้อมกรีดราว 1,500 ต้นเช่นกัน แต่หยุดกรีดไปแล้ว
เพราะบางปียางก็ราคาดีก็ยินดีปรีดา แต่บางปียางราคาตกเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ถ้าจะบอกว่ายางราคาตกจนเดือดร้อนแสนสาหัสจนไม่มีอันจะกินมันก็ไม่ใช่ เพราะโชคดีที่หมู่บ้านกลางแห่งนี้ยังมีช่องทางหารายได้อื่นๆ เข้ามาเสริมในส่วนที่หายไป
นายเดชาบอกว่า อาชีพที่ทำเงินให้ชาวบ้านที่นี่คือการ “ปั้นครกดิน” ขาย โดยในช่วงหน้าแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จชาวบ้านกลางก็จะลงมือปั้นครกดินขายกัน โดยไปขุดเอาดินเหนียวริมหนองน้ำท้ายหมู่บ้านแล้วนำมาตากแดดตากลมให้แห้งก่อนนำดินทุบเป็นก้อนเล็กๆ มาแช่น้ำในท่อซีเมนต์ให้มันเหนียวก่อนนำเข้าเครื่องรีดปั่นอัดด้วยรถไถนาออกมาเป็นแท่งๆ
หลังจากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการทำครกดินออกมาเป็นใบแล้วนำครกที่ทำไปผึ่งแดดให้แห้ง ก่อนจะนำเข้าเตาเผาด้วยไฟฟืนครั้งละ 2,000 ใบ เพื่อให้ครกแข็งแกร่งขึ้นและพร้อมขายได้ทันที
แต่ละวันตนจะปั้นครกดินได้ 100-150 ใบ ขายใบละ 35 บาท ใบใหญ่ 50 บาท เผาครกขายแต่ละครั้งได้เงินร่วม 6 หมื่นบาท หักเป็นค่าฟืนราว 5,000 บาท ค่าจ้างแรงงานมาช่วยเตรียมดินเหนียว 1 คน 6,000 บาท เหลือกำไรเนื้อๆ 4 หมื่นกว่าบาท โดยมีลูกค้าขาประจำจากหลายจังหวัดมารับซื้อไม่อั้น ตลาดไม่มีปัญหา
นายเดชาบอกอีกว่า อาชีพปั้นครกดินขายถือว่าเป็นอาชีพทำเงินให้ชาวบ้านที่นี่หลายครัวเรือน และยังกระจายรายได้แก่ชาวบ้านที่นี่ด้วย เช่น มารับจ้างออกแรงช่วย หรือขุดดินเหนียวมาขายให้คนปั้นครกเต็มท้ายรถไถนาคันละ 300 บาท ถ้าพูดถึงวัตถุดิบแหล่งดินเหนียวในหมู่บ้านกลางแห่งนี้ก็เปรียบเสมือนแหล่งทองคำในหมู่บ้าน ขุดปั้นครกไม่มีวันหมด ขุดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษรุ่นนายแอ่ง-นายไห มากว่าร้อยปี
ขุดกันมาใช้จนถึงวันนี้ก็ยังไม่หมด ส่วนปัญหาไม้ฟื้นจะขาดแคลนก็คงไม่มีปัญหาเพราะไม้ยูคาฯ ก็ใช้ได้ หรือจะตัดต้นยางพารามาขายพวกตนก็รับซื้อทั้งหมด ดังนั้นอาชีพปั้นครกดินขายจึงเป็นอาชีพที่ชาวบ้านกลางเลือกแล้ว เพราะทำงาย ขายคล่อง นั่นเอง
ดังนั้น ในห้วงที่มีปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำจึงไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่แต่อย่างใด