xs
xsm
sm
md
lg

พิษราคายางทรุดทำร้านค้าอุปกรณ์การเกษตรซบ ชาวสวนเบี้ยวจ่ายหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ร้านค้าที่ขายสินค้าเกี่ยวกับการเกษตรซบเซา ชาวสวนไม่มีเงินทุนมาจับจ่าย
นครพนม - พิษยางพาราราคาตก กระทบถึงบรรดาร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรซบเซา ซ้ำเกิดปัญหาหนี้ค้างชำระ ยอดขายลดเกินครึ่ง ชาวสวนยางไม่มีเงินใช้หนี้ บางรายปิดสวนยางหนี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม ปัญหาราคายางพาราตกต่ำไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางเท่านั้น เนื่องจากต้องแบกภาระต้นทุนหลังราคายางตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ยางก้นถ้วยเหลือราคากิโลกรัมละประมาณ 12 บาท จากต้นทุนประมาณ 30 บาท ส่วนยางแผ่น ราคากิโลกรัมละประมาณ 30 บาท จากต้นทุนประมาณ 60 บาท ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครพนมจำนวนนวนมากที่ปลูกยางพารา เนื้อที่ทั้งหมดรวมกว่า 3 แสนไร่ เปิดกรีดแล้วกว่า 2 แสนไร่ ได้รับความเดือดร้อนกันอย่างหนัก

จากข้อมูลพบว่าทุกเดือนจะมีเงินหมุนเวียนสะพัดจากการขายยางพาราเกือบ 100 ล้านบาท แต่หลังราคายางตกต่ำได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ลดลงกว่า 2 เท่า ไม่เพียงเกษตรกรเท่านั้นที่เดือดร้อน ยังมีปัญหาต่อภาคเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะร้านจำหน่วยวัสดุอุปกรณ์การเกษตรต้องเจอปัญหาวิกฤตรายได้ลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ เพราะอุปกรณ์การเกษตรในการทำสวนยางพารา รวมถึงปุ๋ย ไม่สามารถขายได้ รวมไปถึงยังมีปัญหาหนี้ค้างชำระที่ปล่อยเครดิตให้เกษตรกร ไม่มีเงินชำระ ต้องเกิดปัญหาหนี้สูญ

เช่นเดียวกันกับ นางสาวธิญญาภทร์ คำมุงคุณ อายุ 36 ปี ผู้ประกอบการร้านจำหน่วยวัสดุการเกษตร พชรดาการเกษตร ร้านจำหน่ายวัสดุการเกษตรขนาดใหญ่ของ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมากสุดของ จ.นครพนม พื้นที่กว่า 70,000 ไร่ ระบุถึงผลกระทบจากราคายางตกต่ำว่า ทำให้ยอดขายวัสดุอุปกรณ์การเกษตรเกี่ยวกับทำสวนยางพาราลดลงจำนวนมากกว่า 60-70เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเกษตรกรพยายามลดต้นทุน และขาดรายได้ บางคนต้องมีภาระหนี้สิน

ยอดจำหน่ายปุ๋ยที่เคยขายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 กระสอบ ทุกวันนี้ขายได้แค่ประมาณเดือนละ 1,000 กระสอบเท่านั้น ที่สำคัญสิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของการจำหน่ายปุ๋ย และวัสดุอุปกรณ์ทำสวนยาง ที่เคยมีการปล่อยเครดิตให้แก่เกษตรกรเริ่มเกิดปัญหา ไม่มีการชำระตามกำหนด ทำให้ตอนนี้มียอดหนี้ค้างชำระสูงนับล้านบาท

นางสาวธิญญาภทร์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้เจ้าของสวนยางพาราที่ค้างชำระบางรายต้องปิดสวนยางหนีหนี้ไปอยู่ที่อื่น ยอมรับว่ากระทบไปหมด ทั้งภาคเศรษฐกิจการค้า หากไม่มีเกษตรกรสวนยางร้านค้าการเกษตรคงอยู่ยากเช่นกัน วอนถึงรัฐบาลหาทางแก้ไขเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องของปัญหาปากท้อง

ที่สำคัญไม่อยากให้รัฐบาลแก้ไขด้วยการนำเงินมาจ่ายชดเชย ถือเป็นการแก้ไขปลายเหตุ อยากให้หาทางแก้ไขระยะยาวที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาถาวร เกี่ยวกับเรื่องราคารับซื้อยางพารามากกว่าให้เกษตรกรอยู่ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น