xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางพัทลุงรวมตัวสี่แยกโพธิ์ทอง ร้องทุกข์ราคายางต่อรัฐ วอนช่วยพักหนี้กับทางธนาคาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - เกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดพัทลุง รวมตัวสี่แยกโพธิ์ทอง อ.ควนขนุน นำรถแห่โฆษณา และนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาติดตั้ง โดยเขียนร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมวอนรัฐขอพักชำระหนี้กับทางธนาคาร 1 ปี

วันนี้ (14 ม.ค.) ที่บริเวณถนนสายเอเชีย ตรงสี่แยกโพธิ์ทอง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดพัทลุงกว่า 30 คน ได้นำรถแห่โฆษณา และนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่มาติดตั้งไว้ตรงสี่แยกดังกล่าว โดยเขียนจดหมายร้องทุกข์ต่อรัฐบาล เกี่ยวกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยในข้อความของจดหมาเปิดผนึก ได้กล่าวว่า

เรื่อง ร้องทุกข์ราคายางพาราตกต่ำ
เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เนื่องด้วยในปัจจุบันราคายางพาราตกต่ำเป็นอย่างมาก ทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้รับความเดือดร้อน รายได้ไม่พอรายจ่ายของครอบครัวในแต่ละวัน ทำให้ชาวสวนยางพาราไม่มีเงินที่จะชำระหนี้ที่กู้ไปทำการเกษตรให้แก่ทางธนาคารได้

จึงขอความกรุณาจากคณะรัฐมนตรี ช่วยพิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราดังกล่าว โดยขอพักชำระหนี้กับทางธนาคาร 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป
ลงชื่อชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง
 

 
โดย นายปรีชา ขาวสังข์ แกนนำชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลพักชำระหนี้นั้นเนื่องจากชาวสวนยางเดือดร้อนจริงๆ เพราะจะเดินทางไปยืนหนังสือโดยตรงก็ยากลำบาก ร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดก็กลัวจะไม่ถึง จึงได้ร้องหนังสือเปิดผนึกตรงสี่แยกดังกล่าว และตนก็เข้าใจในการแก้ปัญหาราคางยางพาราของรัฐบาลว่ากำลังแก้ แต่ปัญหาโดยตรงของเกษตรกรชาวสวนยางในขณะนี้ยิ่งแก้ยิ่งเพิ่มหนี้ 

โดยในส่วนของเงินกู้ยืมเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ทางสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้อนุมัติให้เกษตรชาวสวนยางกู้ได้แล้ว โดยผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เกษตรกรบางรายได้กู้นำไปประกอบอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ แต่ในวงเงินกู้ 100,000 ต่อราย จากการสำรวจพบว่า เกษตรกรที่กู้ยืมไปลงทุนในอาชีพระยะสั้นนั้นต้องถูกหักค่าประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ทางธนาคารรายละ 3,900 บาท และธนาคารยังหักค่าดอกเบี้ยเงินกู้ในสัญญากู้เงินที่เกษตรกรค้างอยู่ก่อน แม้จะไม่ถึงกำหนดการจ่ายรายปีในช่วงเดือน มิ.ย.ของทุกปีก็ตาม 

ทำให้เกษตรกรยิ่งเดือดร้อนเข้าไปใหญ่ กู้เงินไป 100,000 บาท ไปประกอบอาชีพเสริม บางรายได้เงินสดไปแค่ 30,000-60,000 บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือธนาคารหักหมดทำให้ไม่สามารถนำมาประกอบอาชีพเสริมได้ผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงมองว่าปัญหาในขณะนี้พักชำระหนี้ให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราดีที่สุด
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น