เชียงราย - ผู้ว่าฯ เชียงรายนั่งหัวโต๊ะเรียกถกปัญหาค้าชายแดนเชียงราย พบอุปสรรคยังเพียบ ระบุจีนเร่งระเบิดน้ำโขงซ้ำ รับการค้าโต แต่ยังเก็บภาษีซับซ้อน ขณะที่เรือสินค้าไทยที่เคยเทียบท่าพม่า ถูกตีกลับกว่า 700-800 ลำ ด้าน สปป.ลาวเรียกเก็บค่าผ่านทางซ้ำทั้งหัว-ท้ายถนน R3a
วันนี้ (7 ม.ค.) นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนด้าน จ.เชียงราย ณ ห้องประชุมที่ว่าการ อ.เชียงแสน ชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งทางสำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย ได้รายงานว่า การค้าชายแดนกับประเทศพม่า สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 58 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 39,936.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.31 และเป็นการเพิ่มขึ้นของการค้ากับจีนตอนใต้ และ สปป.ลาว เป็นสำคัญ
ซึ่งจีนยังคงให้ความสำคัญต่อการค้าผ่านแม่น้ำโขง ล่าสุดได้วางแผนระเบิดเกาะแก่งหินในแม่น้ำโขงอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่ 5 ต.ค. 58-5 ก.พ. 59 นี้ ซึ่งมีการแจ้งกำหนดการให้เรือสินค้าจีนในแม่น้ำโขงล่วงหน้าแล้ว โดยช่วงนั้นทางเขื่อนเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน จะลดการระบายน้ำลงเหลือเพียง 800-1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จนกระทบต่อการเดินเรือที่ต้องอาศัยน้ำจากเขื่อนดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 12,000 ลบ.ม./วินาที
อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างไทย-จีน ผ่านแม่น้ำโขง ก็ยังคงเกิดปัญหา เช่น การส่งออกสินค้าแช่แข็งจากอินเดีย ตุรกี ไต้หวัน ฯลฯ ผ่านทางแม่น้ำโขงด้านชายแดนเชียงรายไปยังมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดจีนต้องการเป็นจำนวนมาก ยังมีอุปสรรคเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนที่ซับซ้อน โดยสินค้าเกษตรมีการจัดเก็บร้อยละ 13 สินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 17 ทั้งยังต้องเสียภาษีการค้าอีกร้อยละ 6-8 ซึ่งแต่ละเมืองเรียกเก็บในอัตราที่ต่างกัน ขณะที่สินค้าที่ผ่านประเทศที่มีพรมแดนติดกับจีนกลับไม่ถูกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเลย
นอกจากยี้ยังพบปัญหาเรือสินค้าที่แล่นเข้าท่าเรือสบหรวย ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 200 กิโลเมตร ถูกตีกลับไม่น้อยกว่า 700-800 ลำ ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อน ต้องหันไปใช้ช่องทางอื่นในประเทศพม่า, สปป.ลาว รวมไปถึงเวียดนามมากขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และสินค้าคงค้างเน่าเสียหาย จึงเสนอให้ภาครัฐให้มีการเจรจาตกลงระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนเหมือนการแก้ไขปัญหาสินค้าผลไม้เมื่อ 4 ปีก่อน
ส่วนการค้าชายแดน/ผ่านแดนด้าน อ.เชียงของ พบปัญหาการใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศ หรือพาสปอร์ตของชาวต่างชาติ ต้องไปทำที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เพียงจุดเดียว ไม่สามารถทำที่ท่าเรือบั๊กได้เหมือนเดิม
ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านสะพานฯ เชื่อมกับถนน R3a เพิ่มมากขึ้น แต่มีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายไม่เป็นไปตามระเบียบข้อตกลงกัน โดยมีการเรียกเก็บเงินจากรถสินค้าเพิ่มที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว คันละ 300 หยวน หรือประมาณ 1,500 บาทเมื่อขนสินค้าไปถึงเมืองบ่อเต็น ชายแดน สปป.ลาว-จีน ก็ยังต้องเสียเพิ่มอีก 300 หยวนต่อคันทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าของไทยบริเวณสะพานฯ ก็ไม่มีความคืบหน้า
ด้าน อ.แม่สาย ชายแดนไทย-พม่า พบว่าพม่ามี “โมบายล์ทีม” ออกสกัดกั้นสินค้าที่ส่งออกจาก จ.ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง/ตุงยี ส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ส่งออกผ่านชายแดนแม่สายด้วย
นอกจากนี้ พม่า และ สปป.ลาวได้ใช้สะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเมืองเชียงลาบ ประเทศพม่า กับบ้านกุ่ม เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ที่ห่างจาก อ.แม่สาย เพียงประมาณ 150 กิโลเมตร โดยทั้งสองฝ่ายตั้งหน่วยงานดำเนินการ 12 หน่วยงาน เพื่อบริหารจัดการ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาการค้าร่วมกันแบบก้าวกระโดด และอาจมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วย
ทั้งนี้ หลังรับฟังสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการค้าชายแดนทั้งระบบ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงรายเร่งสรุปประเด็นปัญหาการค้าชายแดนทั้งหมด เพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขที่รัดกุมและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ จ.เชียงรายให้มากที่สุด โดยนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 10 ม.ค.นี้ต่อไป