xs
xsm
sm
md
lg

สามเหลี่ยมทองคำเริ่มเปลี่ยน! ลาวเปิดทางทุนข้ามชาติปลุกท่าเรือริมโขง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - สปป.ลาว เปิดทางทุนข้ามชาติปลุกท่าเรือเมืองมอม 1 ใน 14 เมืองท่าริมโขงตามข้อตกลงเดินเรือพาณิชย์ 4 ชาติ (ไทย พม่า ลาว จีน) พร้อมจับมือจีนพัฒนาถนนเลียบริมน้ำตั้งแต่เชียงรุ่ง-สามเหลี่ยมทองคำ แถมปลุกผีเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ชายแดนลาว-จีนครั้งใหญ่ ขณะที่พม่าเริ่มดันแผนพัฒนาท่าเรือบ้านปงด้วย

วันนี้ (25 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้พื้นที่ยุทธศาสตร์ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ พรมแดนไทย-พม่า-ลาว ที่เชื่อมต่อถึงจีนตอนใต้ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากจีน ทุ่มงบพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำโขงมาก่อนหน้านี้

ล่าสุด สปป.ลาว ได้ลงทุนพัฒนาท่าเรือริมฝั่งแม่น้ำโขงคือ ท่าเรือเมืองมอม เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร ที่เป็น 1 ใน 14 เมืองท่าในแม่น้ำโขงตามข้อตกลงเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติคือไทย เมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ที่ลงนามกันเมื่อปี 2544 เพื่อพัฒนาการคมนาคมและเศรษฐกิจร่วมกันอย่างขนานใหญ่

โดยเริ่มมีการปรับพื้นที่ริมฝั่ง และเหนือท่าเรือซึ่งเป็นตลาดและศูนย์การค้าบ้างแล้ว ขณะที่ตัวท่าเรือซึ่งเป็นคอนกรีตที่เอียงเป็นชั้นๆ รองรับเรือจอดเข้าออกตามระดับน้ำก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจวัดเช่นกัน คาดว่า จะมีการดำเนินการพัฒนาครั้งใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2559 นี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2560 หรือภายใน 1 ปี

รูปแบบของท่าเรือเมืองมอมแห่งใหม่ จะมีความยาวหน้าท่าประมณ 200-300 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าแม่น้ำโขงที่มีระวางน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 80-450 ตันได้พร้อมกันกว่า 20-30 ลำ เนื่องจากเป็นท่าเรือที่ขนานกับแม่น้ำโขงทำให้มีพื้นที่ด้านหน้ากว้างไปตามลำน้ำ แตกต่างจากท่าเรือแม่น้ำโขงเแห่งที่ 1 ของไทยที่ อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นโป๊ะกลางแม่น้ำ รับเรือได้เพียงครั้งละ 8 ลำ ขณะเดียวกัน ท่าเรือเมืองมอมแห่งใหม่ยังออกแบบเพื่อเป็นฐานของเรือลาดตระเวนในแม่น้ำโขงของ สปป.ลาว ที่มีความร่วมมือกับจีน เมียนมา และไทยมาก่อนหน้านี้อีกด้วย

ส่วนพื้นที่บนฝั่งยังจะมีการพัฒนาให้เป็นคลังเก็บสินค้า ศูนย์บริการครบวงจรหรือคอมเพล็กซ์ทั้งโรงแรม ห้องพัก ศูนย์อาหารขนาดใหญ่ ศูนย์ให้บริการการท่องเที่ยว ฯลฯ อีกด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ทางการ สปป.ลาว ได้ให้กลุ่มไหมเงิน ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการท่าเรือ และการค้าชายแดนรายใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในแขวงบ่อแก้ว พ้นจากการดูแลท่าเรือเมืองมอม หันไปให้สัมปทานกับเอกชนข้ามชาติรายหนึ่ง ที่พึ่งได้สัมปทานก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เมียนมา สายเมืองมัณฑะเลย์-อินเดีย เพื่อพัฒนาท่าเรือเมืองมอมดังกล่าวแล้วคาดว่าใช้เงินลงทุนเบื้องต้นขั้นต่ำหลาย 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ สปป.ลาว ยังร่วมกับทางการจีน พัฒนาถนนเลียบแม่น้ำโขงตั้งแต่เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ผ่านกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านในแม่น้ำโขงของจีนลงมา โดยขณะนี้มีการสร้างถนนเป็นช่วงๆ บริเวณชุมชนริมฝั่งในแขวงหลวงน้ำทา จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อม สปป.ลาว-เมียนมา เรื่อยมาจนถึงเชียงกก-ท่าเรือเมืองมอม-เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมคำ ที่มีกลุ่มดอกงิ้วคำ รับสัมปทานพัฒนาพื้นที่ ตรงข้ามบ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของไทยอีกด้วย โดยคาดการณ์กันว่า ถนนสายนี้จะเชื่อมถึงเมืองมอม และสามารถใช้งานได้ดีภายใน 5 ปีนี้แน่นอน

ขณะเดียวกัน สปป.ลาว ยังร่วมกับจีน พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ติดกับเมืองโมฮานของจีน ที่เคยเป็นแหล่งคาสิโนชายแดนใหญ่อีกครั้งด้วย หลังจากปิดกิจการไปนาน โดยมีกลุ่มร่วมทุนจีน สิงคโปร์ มาเลย์ เข้ามาดำเนินการพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์สินค้าปลอดภาษีหรือดิวตี้ฟรี ฯลฯ แทน ซึ่งการพัฒนาบ่อเต็นครั้งใหม่ดังกล่าวทำให้คนจีนสามารถทำหนังสือผ่านแดนหรือบอเดอร์พาสจากจีนเข้าสู่บ่อเต็นของลาวได้โดยตรงเป็นผลให้บรรยากาศคึกคักอย่างมาก

ด้านเมียนมา ซึ่งพึ่งเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ก็เริ่มเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนมากขึ้นเช่นกัน ล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลเตรียมพัฒนาท่าเรือบ้านโป่ง ตรงข้ามท่าเรือเมืองมอมของ สปป.ลาว และเป็น 1 ใน 14 เมืองท่าตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติเช่นกัน

ส่วนภายในตลาดท่าล้อในเมืองท่าขี้เหล็กตรงกันข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก็เริ่มเห็นการเปลียนแปลงโดยมีการจัดระเบียบไม่ให้ตั้งร้านค้าบนทางเท้าหรือถนนกลางตลาดจนดูแปลกตาไปจากเดิมที่เคยเป็นตลาดที่พลุกพล่านอีกด้วย

ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ในโอกาสที่ประเทศไทยเราก็มีโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ชายแดน 3 อำเภอของเชียงราย คือ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ เราจึงควรศึกษาหาข้อมูลการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ เหล่านี้ให้มาก เพื่อประสานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกันซึ่งก็จะเป็นผลดีร่วมกันมากกว่าที่จะมุ่งพัฒนาไปฝ่ายเดียว

“กระแสการพัฒนาเมืองท่าแม่น้ำโขงต่างๆ ของ สปป.ลาว และเมียนมา จะเห็นได้ว่าเป็นท่าเรือที่ใกล้กับ อ.เชียงแสน จึงเป็นไปได้หากจะร่วมมือกันระหว่าง 3 เมืองท่าเพื่อประโยชน์ร่วมกัน”

น.ส.ผกายมาศ กล่าวอีกว่า สำหรับฝั่งเมียนมานั้น จะเห็นได้ว่าเขาพยายามพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคณะกรรมการท้องถิ่นรัฐฉานที่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง ทำให้มีโครงการพัฒนาที่มาจากการเสนอของท้องถิ่นมากขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น